ร่วมสำรวจการทำซ้ำในงานศิลป์ใน"นิทรรศการ Possession: เจ้า-ของ"

ศิลปะ-บันเทิง
26 มี.ค. 56
15:00
180
Logo Thai PBS
ร่วมสำรวจการทำซ้ำในงานศิลป์ใน"นิทรรศการ Possession: เจ้า-ของ"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานของศิลปินยุคก่อน มีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังไม่น้อย จนมีคำถามว่าท้ายที่สุดแล้ว ผลงานที่ออกมานั้นเป็นของใครกันแน่ ศิลปินนานาชาติ 20 คน นำข้อสงสัยนี้มาสะท้อนผ่านงานศิลปะใน"นิทรรศการ Possession: เจ้า-ของ"

นำผลงานเก่าจากศิลปินยุคก่อน มาดัดแปลง เป็นงานศิลปะร่วมสมัย“Moment No.12” ของ “โอลิเวีย โนทาโร” ชาวสวิตเซอร์แลนด์ คืนชีวิตให้กับภาพเขียนอายุ 95 ปี ของศิลปินนิรนาม ไม่เพียงสะท้อนภาพสังคมปัจจุบัน ที่มักหยิบยืมและทำซ้ำผลงานรวมถึงเทคนิค ที่สืบทอดจากอดีต หากยังตั้งคำถามถึงความเป็นต้นแบบทางศิลปะ ว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงของงานสร้างสรรค์นั้น 1 ในผลงานจากศิลปินนานาชาติ 20 คน ที่สำรวจการหยิบยืมงานศิลปะดั้งเดิมที่มีอยู่ มาสร้างสรรค์เป็นงานของตนเอง จัดแสดงในนิทรรศการ “Possession: เจ้า-ของ”

โอลิเวีย  โนทาโร ศิลปิน เล่าวว่า งานของเธอเป็นการแสดงเพนท์สีที่ไม่มีวันจบ เธอได้คืนชีวิตให้กับภาพที่ตายไปแล้ว ด้วยการระบายสีเปลี่ยนพื้นหลัง ซึ่งนอกจากจะสร้างตัวตนใหม่ให้กับภาพวาดเก่าแล้ว เธอยังใส่ตัวตน ความรู้สึก รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัวลงไปเช่นกัน

ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้การหยิบยืมและผลิตซ้ำงานศิลปะ ทำได้ไม่ยาก หากมนต์เสน่ห์ของการถ่ายทอดงานศิลป์ด้วยฝีมือมนุษย์ อาจทำให้หลายคนตั้งคำถาม ถึงเอกลักษณ์ที่แท้จริงของศิลปินร่วมสมัย รวมถึงความแตกต่างของการหยิบยืม และการลอกเลียนแบบ

ขณะที่สตีฟ ฮอว์ลีย์ เล่าว่า ศิลปินที่มาแสดงงานครั้งนี้ ล้วนสร้างสรรค์ผลงานโดยอาศัยงานของคนอื่น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะการทำงานตลอด 30 ปีของเขา ก็ได้หยิบยืมสิ่งที่คนอื่นเคยทำ มาปรับเปลี่ยน และสร้างสรรค์ให้เกิดเอกลักษณ์ในงานของเขาเอง

ด้าน เถกิง พัฒโนภาษ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีเส้นแบ่งระหว่างการหยิบยืมกับการลอกเลียนแบบอย่างชัดเจน ถ้าผลิตซ้ำก็ต้องให้เครดิตคนทำด้วย

ร่วมสำรวจการทำซ้ำในงานศิลป์ และค้นหาความหมายที่แท้จริงของการครอบครอง ในนิทรรศการ “Possession: เจ้า-ของ” จัดแสดงถึงวันที่ 5 พฤษภาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง