ประชุม ศปก.กปต.หารือลดพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

อาชญากรรม
10 พ.ค. 56
04:45
76
Logo Thai PBS
ประชุม ศปก.กปต.หารือลดพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สำหรับการติดตามแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ จะมีการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้หรือ ศปก.กปต. ที่มีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธาน ซึ่งจะมีการหารือถึงการปรับลดพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต. เพื่อพิจารณาปรับลดพื้นที่บางแห่ง ที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ประชาชนร้องขอ ซึ่งจะมีการพิจารณาปรับลดการใช้กฎหมายนี้ในอำเภอไหนบ้าง ขึ้นอยู่ที่ประชุม

ส่วนการประชุมหน่วยงานความมั่นคง กับนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ได้หารือ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ กระบวนการอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในเชิงนโยบายนายกรัฐมนตรี ได้เน้นหนักว่าจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี บังคับใช้กฎหมายให้เป็นนิติรัฐ นิติธรรม ส่วนความคืบหน้าในเรื่องนี้ ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบเรื่องหมายจับ ซึ่งจะต้องประสานกับทั้งตำรวจและอัยการ

ส่วนอีกเรื่อง เป็นเรื่องการประชาสัมพันธ์งานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้มอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงภาพรวมในแผนงานใหญ่เป็นระยะ ส่วนการปฏิบัติงานในพื้นที่จะเป็นหน้าที่ของโฆษกของทีมงานในพื้นที่ และส่วนกลางที่ตนดำเนินการอยู่

นอกจากนั้น พล.ท.ภราดร ยังกล่าวถึงบทวิเคราะห์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ต่อข้อเสนอ 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น และเสนอให้ปรับแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพว่า เรื่องนี้เป็นเพียงบทวิเคราะห์ส่วนตัว ไม่ใช่ผลการประชุมที่ตกผลึกจากการประชุมแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยข้อเสนอที่ให้มีการตั้งคณะทำงานคณะเล็กเพื่อให้การพูดคุยในทางลับนั้น ก็เป็นข้อตกลงเดิมที่ทำไว้ในการพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ตั้งแต่เริ่มต้นลงนามอยู่แล้ว โดยการพูดคุยแบบเต็มคณะ เว้นคราวละประมาณ 1 เดือน ก็ยังคงมีอยู่ และแนวทางการพูดคุยก็ยังเป็นแนวทางเดิม คือรับฟังข้อเสนอไว้ และขอความเห็นของประชาชนในพื้นที่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง