"กต."แจงสถานการณ์"ชุมนุม"ในไทย กับสื่อต่างชาติ

ต่างประเทศ
29 พ.ย. 56
03:57
100
Logo Thai PBS
"กต."แจงสถานการณ์"ชุมนุม"ในไทย กับสื่อต่างชาติ

สื่อต่างชาติยังคงให้ความสำคัญกับการรายงานสถานการณ์ในประเทศไทย โดยเน้นไปที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เรียกร้องให้ยุติการชุมนุมประท้วง โดยรัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อหาทางออก ในขณะที่เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้สื่อข่าวต่างชาติถึงสถานการณ์การชุมนุมประท้วงในไทย

นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ บรรยายสรุปสถานการณ์การชุมนุมให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้าใจถึงสถานการณ์ล่าสุด พร้อมย้ำว่ารัฐบาลจะแก้ไขสถานการณ์ความตึงเครียดโดยสันติวิธี ภายใต้รัฐธรรมนูญ และตอนนี้มี 5 ประเทศที่ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ในไทยได้แก่ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อังกฤษ สหรัฐฯ และอีกสององค์กร คือ สหภาพยุโรป และเลขาธิการสหประชาชาติ

ส่วนการที่นายหนิง ฟู ขุ่ย เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเข้าพบนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงการเมืองภายใน ส่วนการที่กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การชุมนุมในไทย ก็ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจีนอยากให้หาทางออกโดยสันติวิธี

<"">
<"">

ในขณะที่สำนักข่าวต่างชาติอย่างซีเอ็นเอ็น ,บีบีซีและอัลจาซีร่า ยังคงให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในไทย การรายงานเน้นไปที่ท่าทีของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ซึ่งรอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภาเมื่อวานนี้ ได้เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมยุติการประท้วง และยึดสถานที่ราชการเพื่อให้ข้าราชการสามารถทำงานได้ตามปกติ รัฐบาลไม่ต้องการเผชิญหน้าและพร้อมจะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อหาทางออก ผู้สื่อข่าวของอัลจาซีร่าตั้งข้อสังเกตุว่าจนจนถึงตอนนี้ฝ่ายทหารยังไม่มีท่าทีใดๆ แม้ว่าผู้ชุมนุมจะพยายามปิดล้อมกระทรวงมหาดไทยก็ตาม รวมถึงรัฐบาลก็ยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ฝ่ายทหารยังคงนิ่งเงียบ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเหตุรุนแรงซ้ำรอยปี 2553

ส่วนท่าทีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งเงื่อนไขอยู่ที่การโค่นล้มระบอบทักษิณ และไม่ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลที่จะตั้งโต๊ะเจรจา หากการโค่นล้มระบอบทักษิณสำเร็จ จะมีการตั้งสภาประชาชนขึ้นมาแทน ให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในการเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง