"โรฮิงญา สินค้ามนุษย์" ตอนที่ 5: นโยบายเศรษฐกิจเมียนมา แก้ปัญหาผู้อพยพทางเรือ

อาชญากรรม
13 มิ.ย. 58
15:21
126
Logo Thai PBS
"โรฮิงญา สินค้ามนุษย์" ตอนที่ 5: นโยบายเศรษฐกิจเมียนมา แก้ปัญหาผู้อพยพทางเรือ

ความยากจนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา อพยพออกนอกประเทศจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ ทางการเมียนมาจึงเร่งส่งเสริมโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ที่เคยเกิดการสู้รบให้กลายเป็นพื้นที่ในการจ้างงาน แต่แนวคิดนี้ก็ยังถูกต่อต้านจากหลายคนในพื้นที่เพราะกังวลว่าจะมีผลประโยชน์แอบแฝงของคนบางกลุ่ม

ชาวโรฮิงญาในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยในเมืองซิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เร่งมือช่วยกันสร้างอาคารเรียนชั่วคราวให้เด็กๆ ในหมู่บ้านที่มีนับพันคน หลังได้รับเงินช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศให้สร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยแบบไม่ถาวรในค่ายผู้ลี้ภัย

หัวหน้าชุมชนในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในเมืองซิตตเว กล่าวว่า แม้ค่ายผู้พักพิงของเขาจะโชคดีกว่าหลายค่าย เพราะอยู่ใกล้กับตัวเมืองซิตตเว แต่ความช่วยเหลือก็ไม่เพียงพอ เพราะสมาชิกของแต่ละครอบครัวเพิ่มขึ้นและการไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองเมียนมา ก็ทำให้การออกไปหางานทำนอกค่ายแทบไม่เกิดขึ้น ผู้คนจึงยังอดยาก

สภาพความยากไร้เช่นนี้เกิดขึ้นกับชาวยะไข่นับถือศาสนาพุทธเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยการสู้รบเมื่อ 3 ปีก่อน และต้องมาอยู่ในค่ายพักพิงที่ทางการจัดให้อย่างแออัดในเมืองซิตตเว แม้ว่าชาวยะไข่นับถือพุทธจะได้รับอนุญาตจากรัฐให้มาออกมาหางานทำได้ แต่สภาพเศรษฐกิจของรัฐยะไข่ที่ยังคงพัฒนาไม่มากนัก ทำให้รายได้ต่อหัวของคนที่นี้น้อยมากเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ของประเทศเมียนมา

ผลกระทบทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจากการต่อสู้อย่างยาวนานของรัฐยะไข่ ทำให้ทางการเมียนมาเร่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนมากขึ้นในรัฐยะไข่ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ 2 โครงการ คือโครงการพัฒนาระบบการขนส่งและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลอินเดีย บริเวณท่าเรือซิตตเว ปากแม่น้ำคาลาดาน รวมถึงโครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน แต่ 2 โครงการนี้ก็ได้รับการต่อต้านจากคนในพื้นที่บางส่วน ขณะที่ทางการเมียนมาเห็นว่าการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้การเกิดปัญหาผู้อพยพทางเรือ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง