"ลวนลามออนไลน์" ภัยคุกคามทางเพศ กระทบชีวิตจริง

อาชญากรรม
22 พ.ย. 61
06:47
25,944
Logo Thai PBS
"ลวนลามออนไลน์" ภัยคุกคามทางเพศ กระทบชีวิตจริง
การคุกคามทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ ผู้กระทำอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาและผู้ถูกกระทำเลือกปล่อยผ่าน แต่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมองว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความรุนแรงทางเพศได้ หลังพบข้อมูลว่า ความรุนแรงทางเพศ ปี 2560 เกิดจากการรู้จักกันผ่านโซเชียลร้อยละ 8.8

วันนี้ (22 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รูปแบบหนึ่งของการคุกคามทางเพศในปัจจุบันที่กำลังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ คือการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในทางใดทางหนึ่ง ปัญหาสำคัญคือ ทัศนคติของสังคมส่วนหนึ่งมองว่า โลกออนไลน์คือโลกสมมติ การคุกคามทางเพศผ่านช่องทางนี้ ไม่ใช่เรื่องรุนแรง และการเอาผิดทางกฎหมายค่อนข้างยาก 


อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่า กรณีตัวอย่างผู้เสียหายที่ถูกเผยแพร่ภาพอนาจารในสื่อสังคมออนไลน์และเข้าขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทั้งฝ่ายหญิงเป็นครู หลังจากขอเลิกรากับแฟนหนุ่ม ฝ่ายชายง้อขอคืนดี แต่ไม่สำเร็จ จึงนำคลิปภาพระหว่างมีความสัมพันธ์กัน ที่เคยถ่ายเก็บไว้ ไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊กของโรงเรียนที่ฝ่ายหญิงทำงาน

สามีภรรยาคู่หนึ่งฝ่ายชายเป็นตำรวจ หลังจากเลิกรากัน ฝ่ายชายมีความโกรธแค้น หึงหวง ปล่อยภาพในช่วงที่มีความสัมพันธ์กันไปในกรุ๊ปไลน์ตำรวจ ซึ่งความเสียหายเหล้านี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่ พยายามเลือกจบเรื่องราวให้เร็วที่สุด เพื่อยับยั้งความเสียหาย โดยยอมที่จะไม่นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ส่วนใหญ่เหตุการณ์คุกคามทางเพศลักษณะนี้ ผู้ถูกกระทำมักเลือกปล่อยผ่าน ส่วนหนึ่งอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องรุนแรง และบางส่วนมองว่า การดำเนินคดีทางกฎหมายค่อนข้างยากและใช้เวลานาน

มินต์ ชาลิดา นางเอกสาวถูกชายอ้างตัวเป็นแฟนคลับ ส่งข้อความส่อไปในทางชู้สาวผ่านทางอินสตาแกรมอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะบุกไปที่บ้าน

นก อุษณีย์ ดาราสาวถูกก่อกวนด้วยการส่งภาพอนาจารผ่านทางแชทอินสตาแกรม แต่เธอโต้กลับด้วยการโพสต์ข้อความกลับ ฝากให้คนใกล้ชิดดูแลพฤติกรรมของผู้ส่งภาพด้วย

เบนซ์ ปุณยาพร ถูกรบกวนด้วยข้อความลามกทางไลน์ โทรศัพท์ก่อกวน และบุกไปหา ถึงสถานที่ทำธุรกิจของครอบครัวเหตุการณ์เหล่านี้เป็นปรากฎการณ์ที่ผู้หญิงในกลุ่มดารานักแสดง ถูกคุกคามทางเพศ ผู้กระทำใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือและเป็นช่องทางที่ผู้กระทำเข้าถึงพวกเธอซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะได้อย่างง่ายดาย


หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ระบุว่า หลายคนมองว่าการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องธรรมดา แต่การเริ่มจากรูปแบบเล็กๆ อย่างการใช้วาจา เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่น ซึ่งกฎหมายไม่ควรจะมีช่องว่างเหล่านี้ และต้องตีความเรื่องการคุกคามทางเพศหรือเรื่องการลวนลามให้เป็นกฎหมายที่สามารถเอาผิดผู้กระทำผิดได้ 

คุณใช้ถ้อยคำแทะโลมคนอื่นได้ เหมือนไม่ได้มองอีกคนเป็นมนุษย์เท่ากัน และมันอาจเป็นการปลูกฝังให้กล้าที่จะละเมิดสิทธิอื่นๆ เช่น ละเมิดสิทธิทางร่างกายได้ 

ข้อมูลที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวบรวมจากข่าวความรุนแรงทางเพศ ปี 2560 จำนวน 294 ข่าว ทำให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของผู้ถูกกระทำและผู้ถูกกระทำในข่าวความรุนแรงทางเพศ อันดับ 4 จำนวน 26 ข่าว คือการรู้จักกันผ่านโซเชียลมีเดีย คิดเป็น ร้อยละ 8.8


คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การคุกคามทางเพศ มีความหมายเดียวกับล่วงละเมิดทางเพศ จึงมองว่าการคุกคามทางเพศ ต้องเป็นการข่มขืนเท่านั้น แต่การคุกคามทางเพศมีความหมายกว้างกว่านั้น คือการกระทำใดๆ ที่ล่วงเกินทั้งทางวาจาและกาย การสัมผัส มองหรือแม้แต่ใช้คำพูดแทะโลม วิพากษ์วิจารณ์สรีระร่างกายหรือหยอกล้อ ก็ถือเป็นการคุกคามทางเพศ หากทำให้ผู้ที่ถูกกระทำไม่พึงพอใจ

ทั้งนี้ หากพิจารณาทุกข้อความ ทุกรูปภาพ ทุกโพสต์ที่เข้าข่ายการลวนลามในโลกออนไลน์ สามารถส่งต่อ ผลิตซ้ำ แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำ ต้องเผชิญความอับอาย เครียด กดดันอย่างหนัก หลายคนไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป ในขณะที่ความสัมพันธ์ในโลกเสมือนที่นำไปสู่การนัดพบกันในชีวิตจริง ก็อาจนำไปสู่การก่อเหตุข่มขืน ข่มขู่ รีดไถ และฆาตกรรมได้

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง