หวั่นกระทบเลือกตั้ง! นักกฎหมายเร่งชี้ชะตาอนาคต "ไทยรักษาชาติ"

การเมือง
12 ก.พ. 62
10:57
385
Logo Thai PBS
หวั่นกระทบเลือกตั้ง! นักกฎหมายเร่งชี้ชะตาอนาคต "ไทยรักษาชาติ"
นักกฎหมายแนะ กกต.เร่งพิจารณาคดียุบพรรค "ไทยรักษาชาติ" หวั่นกระทบเลือกตั้ง หาก ส.ส.เขตไทยรักษาชาติชนะในเขต อาจต้องมีการเลือกตั้งซ่อม แต่หากพิจาณาไม่ยุบพรรค ไทยรักษาชาติอาจเสียโอกาสในการหาเสียง

วันนี้ (12 ก.พ.2562) ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์ รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กรณีการพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยระบุว่า ตามคำร้องให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยอ้างอิงความผิดตาม พรป.พรรคการเมือง มาตรา 92 การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ เข้าข่ายที่จะผิดตามกฎหมายข้อที่หยิบยกมา 

หากดูมูลเหตุว่าเข้าข่ายถูกยุบพรรคหรือไม่ ต้องดูประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งระบุไว้ว่า การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควร ไม่เหมาะสมออย่างยิ่ง 


เมื่อตรวจสอบมาตรา 92 อนุ 2 ระบุว่า กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ต้องไปพิจารณาว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ได้กระทำนั้นเข้าข่ายอาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ ถ้าอาจเป็นปฏิปักษ์ก็ถือว่าเข้าข่าย

หากเข้าข่ายจริง นายทะเบียนหรือ กกต. ต้องรวบรวมหลักฐานเสนอ กกต. เมื่อพิจารณาเห็นว่าเข้าข่ายยุบพรรค ก็เสนอศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค แต่หากไม่เข้าข่ายก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ และ กกต.ต้องแถลงผลการพิจารณาว่าเป็นอย่างไร

"คำพูด" หลักฐานสำคัญในการพิจารณาคดี

รศ.เจษฎ์ ระบุว่า หลักฐานที่ปรากฏต่อสาธารณะ เช่น คำพูด การประชุมกรรมการบริหารพรรค ได้มีการหารือกับผู้รู้หรือนักกฎหมายหรือไม่ และมีความรู้และเข้าใจในสิ่งที่ประกาศระบุไว้ มีความรู้ในวัฒนธรรม โบราณราชประเพณี และขนบธรรมเนียมเป็นอย่างดี ซึ่งบรรดาบุคคลเหล่านั้น เมื่อเข้าร่วมประชุม จนมีการตกลงร่วมกัน จะถือให้เห็นได้ว่าการกระทำทั้งหมดนั้นเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำอันมิบังควร ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง แต่หากบุคคลที่หารือกันไม่ทราบเรื่องใดเลย กรณีนี้อาจจะถูกยกได้ว่าเป็นความไม่รู้


นอกจากนี้ ต้องมองว่าเจตนาหรือไม่ หากเจตนาไม่ได้มีสิ่งใดที่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ทำให้หลุดการพิจารณายุบพรรค แต่หากมีเจตนา เช่น ที่มาของพรรคไทยรักษาชาติ ใครเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง พรรคไทยรักษาชาติเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับบุคคลใด แล้วบุคคลเหล่านั้นพูดคุยกันอย่างไร แบบไหน มีผู้สนับสนุนที่ใกล้ชิด หรือว่าคนที่อยู่ในเครือข่ายได้ทำอะไร พูดอะไร หลังประมวลทั้งหมด ต้องนำมาเปรียบเทียบในประกาศประกอบกัน

กระบวนการพิจารณาควรเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้ง

ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ให้ความเห็นกระบวนการพิจารณากรณียุบพรรคไทยรักษาชาติควรเกิดก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากหากมีการพิจารณาหลังเลือกตั้งอาจสร้างปัญหาได้

หากจะทำสิ่งใดควรทำก่อนการเลือกตั้ง พิจารณาเร็วดีกว่าช้าเพราะหากประชาชนเลือกไทยรักษาชาติ แล้วชนะได้ ส.ส.ในเขต แต่มีการประกาศยุบพรรคขึ้น ก็ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม 


ส่วนการเสนอยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค หรือกระบวนการจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งหากไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมาตรการชั่วคราว ห้ามพรรคไทยรักษาชาติกระทำการอย่างไร หรืองดเว้นกระทำการไปเลย เช่น งดหาเสียง ก็ต้องพิจารณาโดยเร็ว เพราะหากสั่งห้ามหาเสียง 1 สัปดาห์ ท้ายที่สุดไม่มีการยุบพรรค ไทยรักษาชาติก็สามารถบอกได้ว่าเสียโอกาสหาเสียงไป 1 สัปดาห์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง