ระเบิดราชประสงค์ ในมุมมอง "จรัญ มะลูลีม"

20 ส.ค. 58
12:52
282
Logo Thai PBS
ระเบิดราชประสงค์ ในมุมมอง "จรัญ มะลูลีม"

วิเคราะห์เหตุระเบิดแยกราชประสงค์จากมุมมองทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศ.จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุเป็นการก่อการร้าย

สัมภาษณ์วิเคราะห์ในรายการตอบโจทย์ ตอน "ถอดสลัก ทฤษฎีความเชื่อ ระเบิดแยกราชประสงค์" ออกอากาศคืนวานนี้ (19 ส.ค.2558) ไทยพีบีเอสออนไลน์เลือกบางช่วงที่น่าสนใจในการวิเคราะห์ว่าเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหมเมื่อค่ำวันที่ 17 ส.ค.2558 มีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายสากลหรือไม่ และถอดความหมายเหตุใดจึงโจมตีผู้บริสุทธิ์

- สำนักข่าวต่างประเทศเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายสากลหรือไม่ ที่จริงยังไม่มีข้อสรุป องค์ประกอบเหตุระเบิดเข้าข่ายเป็นการก่อการร้ายหรือไม่
ถือว่าเป็นการก่อการร้ายอย่างหนึ่ง เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดที่อื่น เพียงแต่ว่ากรณีของไทยอาจเป็นเหตุการณ์ใหม่ ที่ผ่านมามีความพยายามจะใช้ขนาดของความรุนแรงเท่าๆกัน แต่ไม่เกิดระเบิด เช่น ซีโฟร์เมื่อหลายปีก่อน แต่คราวนี้มีการระเบิดและเลือกเอาสถานที่ที่ถือว่าเป็นเป้าหมายอ่อนที่ฝ่ายความมั่นคงอาจจะให้ความสำคัญน้อย เพราะเป็นที่ที่คนมาสักการะในด้านความเชื่อ ซึ่งท้าวมหาพรหมเป็นเหตุการณ์ที่ฝ่ายความมั่นคงต้องให้ความสำคัญ เพราะเข้าองค์ประกอบของการก่อการร้าย เป็นไปตามทฤษฎีก่อการร้ายที่ว่าเกิดที่ไหนก็ได้ เวลาใด สถานที่ใดก็ได้ เพื่อให้เป็นข่าวเพื่อออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่กรณีนี้ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบ แต่ว่าลักษณะของการกระทำเป็นหนึ่งของการก่อการร้าย ระยะหลังเริ่มพบในหลายองค์กรที่มีการเข้าไประเบิดสถานที่ของคนที่มีความเชื่อต่างกัน เช่น การระเบิดมัสยิดในคูเวต เยเมน และที่ต่างๆ

- ถ้าเข้าองค์ประกอบแล้วครั้งนี้เป็นการก่อการร้ายสากลหรือไม่
ในระยะหลังการก่อการร้ายจากหลายๆกลุ่มซึ่งมีลักษณะแบบนี้ รวมทั้งที่กำลังมีการพูดถึงอย่างมาก เช่น กองกำลังของไอเอส อย่างไรก็ตามประเทศไทยในครั้งนี้เป็นครั้งแรกๆที่มีความรุนแรงขนาดนี้ แต่ก่อนเราก็ไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดกับประเทศไทยได้

- เกี่ยวกับไอเอส ทำไมถึงมีการวิเคราะห์ เวลาที่ก่อเหตุมุ่งเอาชีวิตผู้บริสุทธิ์ ความสูญเสียรุนแรง
ถ้าพูดถึงการก่อการร้ายสากลก็ไม่จำเป็นต้องเป็นไอเอส อาจจะเป็นหน่วยอื่น แต่ระยะหลังวิธีการที่กระทำจะรุนแรงมากขึ้น สังหารชีวิตผู้คนมากขึ้น เกิดขึ้นในหลายพื้นที่อย่างในตะวันออกกกลาง แอฟริกาเหนือ และที่เป็นปฏิปักษ์กันระหว่างรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เช่นใน อียิปต์

- มีหลายทฤษฎีที่เชื่อมโยง สื่อตจ่างชาติวิเคราะห์เกี่ยวกับอุยเกอร์ มุ่งเป้าหมายชาวจีน
ถ้าสังเกตดูในช่วงที่มีการศึกษาเรื่องอุยเกอร์ สิ่งที่พบจริงๆคือ อุยเกอร์มีความดิ้นรนเป็น 2 อย่าง คือ 1.อุยเกอร์อิสถานเพื่อเป็นตัวของตัวเอง และ 2.คือกลับไปยุคก่อนที่เตอร์กิสถานถูกผนวกเป็นซินเจียงอย่างในปัจจุบัน แต่การต่อสู้ของอุยเกอร์บ่อยครั้งใช้แค่เพียงมีดและอื่นๆ

กรณีของอุยเกอร์ถ้าเค้าจะทำความรุนแรงคงทำตั้งแต่ครั้งแรกที่ตุรกี ในสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ แต่ว่าไม่ได้ทำถึงขั้นใช้ระเบิด ขณะเดียวกันที่ผ่านมาอุยเกอร์มีเหตุการณ์เดียวกับไทย คือ กรณีการส่งตัวกลับ ส่งอุยเกอร์กลับจีน ขณะที่มาเลเซีย กัมพูชา ปากีสถาน ก็เคยส่งแต่เป็นจำนวนน้อยกว่ากรณีที่ไทยส่งตัวกลับ และเป้นช่วงที่จีนมีปัญหาระหว่างประเทศกับที่อื่นยังไม่ค่อยมีมากนัก แต่พอระยะหลังที่จีนมีปัญหากับประเทศอื่น การกระทำของจีนจึงเป้นที่จับตามองมาก

- สื่อจีนถึงกับเขียนบทบรรณาธิการว่าน่าจะเกี่ยวข้องกันกับชาวอุยเกอร์ มีความเห็นอย่างไร
ถ้าอ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้ของอุยเกอร์ มีอยู่หลายครั้งที่เวลาชาวจีนที่เป็นชนกลุ่มน้อยกระทำอะไร บางทีอาจจะมาจากกลุ่มอื่นแต่ก็ถูกโยนให้เป็นการกระทำของอุยเกอร์ตลอด อุยเกอร์จึงต่างชาวอุ๋ย ชาวฮ่อ ซึ่งเข้ากับรัฐบาลจีนได้ดีกว่า ฉะนั้น จะตกเป็นเหยื่ออยู่บ่อยครั้ง อันนี้คือเท่าที่ศึกษาดู

ฉะนั้น มองโดยรวมแล้ว จีนกล่าวหาว่าอุยเกอร์บางคนพยายามจะเข้าไปอยู่ในไอเอส โดยผ่านจากทางตุรกี  แต่ว่าสถานการณ์จริงคือตอนนี้ตุรกีนั้นให้ทางสหรัฐฯ มาเป็นฐานทัพโจมตีไอเอส เพราะฉะนั้นโอกาสที่คนเหล่านี้จะไปร่วมกับไอเอสโดยผ่านทางตุรกีนั้นเป็นไปไม่ได้

- การเชื่อมโยงของกลุ่มต่างๆ ตาลีบัน ไอเอส อัลกออิดะห์ ทำงานเป็นเครือข่ายเกี่ยวข้องหรือไม่
ไอเอสนั้นแยกออกมาจากอัลกออิดะห์เรียบร้อยแล้ว และได้รับการยอมรับมากกว่าในการปฏิบัติการ ขณะที่ตาลีบัน มีรายงานอย่างชัดเจนว่าต้องการทำสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลแล้วหลังจากอับุดลเลาะห์ โอมาร์ ถึงแก่ชีวิต ฉะนั้นจะเห็นว่าในขบวนการ ระยะหลังแยกกันทำงานมากกว่าจะรวมกัน

ขณะเดียวกันโบโฮารามที่มีลักษณะเดียวกับไอเอส เริ่มรวมตัวกันมากขึ้น และนิยมไอเอสมากขึ้น และบางส่วนของอัลกออิดะห์ที่มองว่าระยะหลังไอเอสได้รับการยอมรับมากกว่าก็ไปรวมกันในระดับหนึ่ง

-แสดงว่ามีความเป็นไปได้ถ้ามีปฏิบัติการในประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นเครือข่ายย่อยๆที่ไม่ต้องติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กับไอเอสโดยตรง ?
ความจริงที่เรารับทราบคือ ไอเอสกับไทยมีความเกี่ยวพันกันน้อยมาก ถ้าไอเอสกับเจมาอิสลามิยะห์ หรือบางส่วนของมาเลเซีย หรือกับมินดาเนานั้นใช่ เพราะคนที่นั่นไปรวมตัวกับไอเอสและกลับมาจำนวนหนึ่ง แต่ว่าไอเอสกับไทยค่อนข้างจะห่าง ถ้าจะเชื่อมโยงจริงๆคือจีนกล่าวหาว่าชาวอุยเกอร์จะรวมกับไอเอสโดยผ่านตุรกีเท่านั้นเอง

- ต้องทบทวนสถานการณ์ความมั่นคงหรือทัศนคติในการมองความมั่นคงใหม่หรือไม่หลังมีการก่อการร้าย
แน่นอน ที่ผ่านมาในงานด้านความมั่นคงมีการพูดเสมอว่าไทยเป็นสปริงบอร์ดเป็นที่ที่คนเข้ามาวางแผนเพื่อไปก่อการที่อื่น เช่น กรณีการเข้ามาของฮัมบาลีที่ถูกจับกุม การเข้ามาของนักการเมืองอินเดียเพื่อมารับสินบนก็มีหลักฐาน การเข้ามาของชาวปากีสถาน ศรีลังกา เพื่อทำหนังสือเดินทางปลอมเพื่อเข้าไปอยู่ในอังกฤษ หรือว่าการมาซื้ออาวุธจากเขตแดนไทย หรือวิธีการลักลอบเพื่อส่งต่อให้อาเจะห์ในสมัยที่อาเจะห์ยังมีขบวนการในอินโดนีเซีย หรือพยัคฆ์ทมิฬอีแลมที่ศรีลังกา หรือแม้แต่ในกรณีภาคใต้ของไทยที่ไปรวมกันในจังหวัดหนึ่งเพื่อก่อความรุนแรงในภาคใต้

- เหมือนว่าไทยเป็นช่องทางผ่าน ?

ที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น เพราะไทยเน้นการท่องเที่ยว มีการเปิดเรื่องวีซ่าให้ยาวนานขึ้น ช่องทางการเข้ามาของคนก็หลากหลายมากขึ้น อันนี้มีทั้งข้อดีและข้อต้องระมัดระวัง

- การทบทวนแนวทางของนโยบายความมั่นคงของไทย

ความมั่นคงของไทยเน้นอยู่พอสมควรในจุดที่เป็นสถานที่สำคัญ เช่น องค์การระหว่างประเทศ สถานทูต ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด เพราะฉะนั้นเหตุระเบิดที่ราชประสงค์เราไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นแหล่งของการก่อความรุนแรงได้ อย่างเช่นศาสนสถาน ถือได้ว่าในระยะหลังถ้าดูในระหว่างประเทศเกิดในศาสนสถานมากขึ้น

ทุกที่สามารถเป็นที่ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงได้ ไม่จำกัดเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง ส่วนการเชื่อมโยงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของศาสนาน่าจะไม่ใช่ เพราะว่าถ้าจะทำแบบนี้คงทำมานานแล้ว โดยปกติประเทศไทยนานาชาติให้การยอมรับว่าเป็นที่ที่ทุกศาสนาสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ อย่างน้อย 5 ศาสนาที่อยู่ไทยก็มีอิสรภาพเพียงพอ

- ถ้าผลของการคดีออกมาว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายจริงๆ มองได้อย่างไร
มีทฤษฎีที่คัดง้างกันอยู่ว่าคนที่ลงมือทำเสร็จแล้วขึ้นเครื่องบินออกนอกประเทศ อันนี้เราไม่รู้จริงหรือไม่ แต่ว่ามีเหตุการณ์ระเบิดลูกสองตามมา ผมมองว่าถ้าเป็นเหตุการณ์ภายในมักถูกมองว่าเป็นเหตุการณ์ภายนอก และเหตุการณ์ภายนอกถูกมองว่าเป็นภายใน เป็นส่วนผสมกันอยู่ ซึ่งขณะนี้อยุ่ระหว่างการสืบสวนกันอยู่ แต่การตั้งสมมติฐานจริงๆ ก็ทำได้หลากหลาย

- เมืองใหญ่ๆทั่วโลกที่ก่อนหน้านี้คนมองว่าปลอดภัย กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงไปแล้วหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุ 911 หรือการโจมตีลอนดอน ขณะนี้ไทยจะตกไปอยู่ในกลุ่มในแผนที่โลกนั้นด้วยหรือไม่
น่าสนใจมาก เพราะว่าตอนนี้ระยะหลังๆ ที่ไหนก็เกิดเหตุได้หมด เห็นได้ว่าอีกอย่างที่เป็นเป้าหมายคือแหล่งท่องเที่ยว เช่น เหตุที่เกิดในตูนีเซียที่มีการโจมตีนักท่องเที่ยวต่างชาติ แล้วคนจะหยุดเที่ยวกันไปพักหนึ่ง หรือที่ลุกซอของอียิปต์ การระเบิดเมืองโบราณในปาเมลาในอิรัก เป็นต้น ฉะนั้นความขัดแย้งระหว่างประเทศจะมีการไปตอบโต้กับคนที่เข้ามาภายในประเทศอยู่บ่อยครั้งเลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวก็กลายเป็นเหยื่อได้เช่นเดียวกัน

- ทำไมนักท่องเที่ยวจึงกลายเป็นเป้าโจมตี
กลุ่มบางกลุ่มที่ต่อสู้ เช่น ไอเอสซึ่งถูกสหรัฐฯ ถล่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว การแสดงของไอเอสเพื่อจะตอบโต้ดูแล้วกำลังอาจจะไม่พอ จึงใช้วิธีการอื่นๆ เช่น การจับตัวประกัน การสังหารนักท่องเที่ยวจากประเทศที่เข้ามาโจมตี ให้เป็นที่ประจักษ์ว่าคนเหล่านี้ได้รับการตอบโต้จากคนที่ไม่สามารถตอบโต้กับสหรัฐฯ หรือว่ากองกำลังต่างๆโดยตรงได้ อันนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ

- จุดประสงค์จริงๆคือต้องการสร้างบรรยากาศแบบความหวาดกลัว
การก่อการร้ายมาจากหลายสาเหตุ ความยากจนก็เป็นสาเหตุหนึ่ง อีกสาเหตุหนึ่งก็คือว่าการที่ประเทศหนึ่งถูกอีกประเทศหนึ่งรุกรานและเข้าครอบครอง และไม่สามารถตอบโต้ได้ จึงมาตอบโต้กับคนอื่น แต่น่าเสียใจว่ามาตอบโต้กับคนไร้เดียงสา อย่างกรณีของที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย ไม่ว่าใครจะทำก็แล้วแต่ถือว่าเป็นความหฤโหดไม่คำนึงถึงชีวิตมนุษย์ ซึ่งการไม่คำนึงถึงชีวิตมนุษย์ สำหรับคนหลุ่มหนึ่งเขาถือว่าพี่น้องเขาสูญเสียไปเยอะแล้ว หรือว่าสุดที่จะทนทานแล้วเลยหันไปตอบโต้ ซึ่งมองในทางทั่วไปแล้วไม่ถูกต้อง

- ไทยต้องทบทวนอะไรหรือไม่ เพราะว่าที่ผ่านมาการโจมตีด้วยการก่อการร้ายมักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งมีเดิมพันในนโยบายต่างประเทศ ขณะที่ที่ผ่านมาไทยถูกมองว่าน่าจะมีความเป็นกลางในเชิงนโยบายการต่างประเทศ จริงๆแล้วไทยถูกมองว่าเป็นกลางจริงหรือไม่
ไทยถูกมองว่าเป็นกลางมายาวนานพอสมควร เช่น ความสัมพันธ์ไทยกับอิหร่านค่อนข้างดี แม้ว่าอิหร่านจะถูกดดันจากรอบข้างไทยก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดี ตะวันออกกลางรักประเทศไทยหมด คนอาหรับเอมิเรตส์เดินทางมารักษาตัวที่ประเทศไทยปีละ 1 แสนคน

แต่ระยะหลังการต่างประเทศของไทยถูกสถานการณ์การระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องหลายเรื่อง เราทำหน้าที่ แต่ว่าหน้าที่ที่เราทำถูกมองว่าไม่ถูกต้องกับมาตรฐานสากล ทั้งกรณีส่งตัวชาวอุยเกอร์กลับจีน หรือกรณีโรฮิงญา แต่กรณีชาวโรฮิงญาไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะขยายเครือข่าย แต่อุยเกอร์มีทั้งศูนย์ในการช่วยเหลือชาวอุยเกอร์ที่สำคัญๆ เช่น มิวนิค ฮัมบูร์ก หรือที่อื่นๆ เข็มแข็งพอ

แต่ถ้าจะมีความเกี่ยวพันกับการก่อการร้าย คิดว่าไม่ได้เป็นการกระทำของตะวันออกกลาง ซึ่งตะวันออกกลางไม่ได้มองเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยว่าเป็นประเด็น มองว่าเป็นเรื่องการต่อสู้ของคนในประเทศเท่านั้น และยังไม่เคยเห็นว่ากรณีของภาคใต้มีประเทศต่างๆเข้ามาหนุนอย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าเข้าในนามขององค์กรระหว่างประเทศอย่างโอไอซี ฉะนั้น ถ้าเป็นองค์กรระหว่างประเทศอุยเกอร์น่าจะใกล้เคียงที่สุดที่มีความเป็นไปได้กับเหตุการณ์นี้ แต่ว่าผมคิดว่าอุยเกอร์ยังไม่ถึงขั้นก่อเหตุในประเทศไทย เนื่องจากอุยเกอร์ปฏิบัติการเฉพาะในเอเชียกลาง เพราะกลุ่มนี้อยู่ในคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ในดินแดนที่ได้อิสระจากอดีตสหภาพโซเวียตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งซินเจียงก็ติดอยู่กับ 8 ประเทศนี้

- ปกติกลุ่มที่ลงมือจะออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือไม่
ในไทยสมัยก่อนเหตุการณ์ในภาคใต้ถ้าทำโดยพูโล พูโลจะออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่ระยะหลังภาคใต้ก็เปลี่ยนคือไม่มีใครออกมารับผิดชอบ แต่มีลักษณะโจมตีแล้วหนี

- โจมตีแล้วหนีมีความหมายอย่างไร

การที่ไม่ออกมารับผิดชอบ โอกาสที่จะออกมาโจมตีครั้งต่อไปจะทำได้ยากขึ้น ยกเว้นกองกำลังที่รู้สึกว่าสามารถทำได้ เช่น กรณีไอเอส

รับชมรายการตอบโจทย์ ฉบับเต็มได้ที่ : https://youtu.be/TqcV_W8mWa0


ข่าวที่เกี่ยวข้อง