กยท.นัดถกปัญหาเงินรับซื้อยางพารา 4,500 ล้านบาท

เศรษฐกิจ
18 ม.ค. 59
11:09
243
Logo Thai PBS
กยท.นัดถกปัญหาเงินรับซื้อยางพารา 4,500 ล้านบาท
หลังจากที่รัฐบาลจะรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 45 บาท จำนวน 100,000 ตัน โดยงบฯที่จะนำมารับซื้อยางจำนวน 4,500 ล้านบาทจะดึงมาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออก หรือเซส ของ กยท.ล่าสุดพบปัญหาในข้อกฎหมายที่รัฐบาลอาจนำเงินจากเซสมาใช้ซื้อยางเกษตรกรไม่ได้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงการใช้เงินเซสของ กยท.ที่มีนักกฎหมายของ กยท.และสำนักงบประมาณทักท้วงว่า อาจไม่สามารถนำเงินเซสมาใช้ได้ เพราะ กยท.มีกฎหมายรองรับ เงินกองทุนของ กยท.ต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ดังนั้นจึงสั่งให้ กยท.ไปหารือกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อหาข้อสรุปการใช้เงิน ก่อนที่จะทำกระบวนการใช้เงินเพื่อซื้อยางตามนโยบายรัฐบาลเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (19 ม.ค.2559)

ซึ่งหากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า เงินเซสใช้ได้ทั้งหมด 4,500 ล้านบาทก็สามารถดำเนินการได้ แต่หากตีความว่าสามารถใช้ได้บางส่วน ที่เหลืออาจจะใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส.หรือต้องใช้งบกลางในบางส่วน ซึ่งการใช้เงินเซสจะต้องรอบคอบ เพราะกลัวการใช้เงินเซสอาจผิดกฎหมายซ้ำรอยคดีกล้ายางได้ แต่คาดว่าร้อยละ 90 การดำเนินโครงการซื้อยางตามนโยบายรัฐบาลไม่น่ามีปัญหา

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องเงินในการรับซื้อยางพารามีรายงานว่า คณะกรรมการ กยท.จะมีการประชุมในวันนี้ (18 ม.ค.2559) เป็นนัดแรก จากเดิมกำหนดการประชุมกันในวันที่ 21 ม.ค.2559 ซึ่งคาดว่าจะหารือปัญหาการรับซื้อยางพาราตามโครงการของรัฐบาล เพราะเงินเซสที่มี 30,000 กว่าล้านมีภาระผูกพันกว่า 20,000 ล้านบาทแล้ว จึงเหลือเงินจริงๆไม่กี่พันล้านบาทและอาจจะแบ่งมาช่วยซื้อยางได้ไม่เกิน 800-1,000 ล้านบาทเท่านั้น

และหากไม่สามารถใช้เงินเซสไปรับซื้อยางได้ มีความเป็นไปได้ที่กระทรวงการคลังจะให้ ธ.ก.ส.และธนาคารออมสินเข้ามาช่วยปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ย 0% ขณะนี้ยังไม่มีการระบุวงเงินสินเชื่อจาก 2 ธนาคารที่จะนำไปรับซื้อยาง 100,000 ตัน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 2 ธนาคารเท่ากับต้นทุนเงินของแบงก์ คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มได้ทันทีหลัง ครม.มีมติ ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (19 ม.ค.2559)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง