กทม.นำร่องริมคลองโอ่งอ่าง ใช้ฝาท่อระบายน้ำสุดชิค

สังคม
17 ก.ย. 62
13:47
1,950
Logo Thai PBS
กทม.นำร่องริมคลองโอ่งอ่าง ใช้ฝาท่อระบายน้ำสุดชิค
สกสว.โชว์ภาพฝาท่อระบายน้ำสาธารณะที่มีรูปภาพ และสีสันสะดุดตา ซึ่งสำนักผังเมือง กทม.เตรียมจะนำผลงานไปใช้ และเป็นแนวทางในการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง และเตรียมหารือกับการประปานครหลวงติดตั้งย่านเยาวราช ริมแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

วันนี้ (17 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก สกสว.ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิท ยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โพสต์ภาพและข้อความว่า ประติมากรรมฝาท่อระบายน้ำ ศิลปะสุดชิคปรับโฉมกรุงเทพฯ โดยระบุว่า กองจัดรูปที่ดิน และปรับปรุงฟื้นฟูเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้นำผลการวิจัยไปใช้ และเป็นแนวทางการออกแบบ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง และโครงการศิลปะชุมชนกิจกรรมแต้มสี กรุงเทพฯ ปี 2561

โดยสำนักผังเมืองได้ศึกษาปรับปรุงพื้นที่ริมคลองรอบกรุงเทพมหานคร ตลอดเส้นทางจากแม่น้ำเจ้า พระยา ด้านทิศใต้จรดทิศเหนือ นอกจากนี้ในโครงการส่วนต่อจากคลองโอ่งอ่างที่กรุงเทพมหานครมีแผนดำเนินการต่อใช้งานศิลปะ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม  

 

รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล นักวิจัยโครงการการออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ระบุว่า ลักษณะทางศิลปกรรมของสถานที่สำคัญในอดีต และโบราณสถานที่ยังหลงเหลืออยู่ในย่านชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง ผู้วิจัยเห็นว่าสามารถใช้เป็นเนื้อหาในการออกแบบงานศิลปะได้ ผลงานอาจช่วยส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชนให้เด่นชัดขึ้น เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมของทางเดินริมคลองและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่

ผู้วิจัยเห็นว่าในแต่ละช่วงทางเดินริมคลองสามารถติดตั้งงานศิลปะได้หลากหลายลักษณะ จึงเสนอแนวทางการออกแบบงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ทั้งงานประติมากรรมและงานออกแบบศิลปะ 3 มิติ โดยเสนอให้ใช้รูปแบบงานศิลปะหลากหลายร่วมกัน เพื่อช่วยให้ทางเดินนี้มีองค์ประกอบทางศิลปะที่เป็นเอกภาพและเกิดทัศนียภาพที่งดงาม และเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดทางเดินริมน้ำสายวัฒนธรรม

 

แบ่งรูปแบบการออกแบบงานศิลปะออกเป็น 6 รูปแบบ เช่นประติมากรรมลอยตัว ประติมากรรมนูนต่ำ ม้านั่ง ฝาท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภค ศิลปะกราฟฟิตี้ และรั้วกันทางเดินริมน้ำ

ล่าสุด กำลังหารือกับการประปานครหลวง เพื่อออกแบบฝาท่อเล็กๆ จำนวน 16 อัน เพื่อติดตั้งในย่านเยาวราช เป็นการปรับภูมิทัศน์ต่อเนื่องตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง