เลิกจ้างงานใกล้วิกฤต "ยานยนต์-อิเล็กฯ" เลือกหยุดงานชั่วคราว

เศรษฐกิจ
13 พ.ย. 62
11:13
1,941
Logo Thai PBS
เลิกจ้างงานใกล้วิกฤต "ยานยนต์-อิเล็กฯ" เลือกหยุดงานชั่วคราว
สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุไทยมีอัตราการว่างงานเดือน ต.ค.เพียงร้อยละ 0.9 แต่กลับพบว่ามีข่าวปิดกิจการ เลิกจ้าง อย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุตสาหกรรมกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มักจะใช้วิธีหยุดงานชั่วคราว

วันที่ 11 พ.ย.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แทบเรียกว่าเป็นข่าวรายวันที่พบลูกจ้างถูกลอยแพ เลิกจ้าง ปิดโรงงาน แม้ตัวเลขการว่างงานล่าสุดเดือน ต.ค.2562 อยู่ที่ 355,000 คน น้อยมากเทียบกับคนมีงานทำ 37 ล้านคน นักวิชาการประเมินว่ายังไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่สำหรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างแต่ละคน คงเป็นวิกฤตสำหรับชีวิตตอนนี้

พนักงานบางบริษัทถูกเลิกจ้างแบบไม่ทันตั้งตัว

ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา บริษัทในพื้นที่อุตสาหกรรมหลายจังหวัด เลิกจ้าง ปิดโรงงานหลายแห่ง บริษัท เอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิต แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เลิกจ้างพนักงานส่วนหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ใช้วิธีไม่ให้ผ่านทดลองงาน ขณะที่พนักงานของบริษัทผลิตกระเป๋า ไฮเทรนด์ ศรีราชา ชลบุรี ถูกโรงงานเลิกจ้างแบบไม่ทันตั้งตัว

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โรงงานผลิตผ้าใบยางรถยนต์ใน จ.ระยอง ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 400 คน บริษัทในเครือ เอ็นโอเค ประเทศญี่ปุ่น ผลิตฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ และป้อนชิ้นส่วนให้กับมือถือ ลดพนักงาน จาก 10,000 คน เหลือ 6,000 คน บริษัท นิตพอยน์ โรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออก จ.นครปฐม เพิ่งปิดตัวเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2562 ค้างค่าแรงพนักงาน 230 คน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รายงานว่า การเลิกจ้างแรงงานเกิดขึ้นในปีนี้มากขึ้นทั้งที่ยังไม่ครบสิ้นปี สถานประกอบการเลิกจ้างพนักงาน จาก 607 แห่ง เพิ่มเป็น 1,017 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบมากขึ้น เป็นกว่า 7,700 คน ซึ่งไม่นับจูงใจเออรี่รีไทร์ หรือเกษียณอายุก่อนกำหนดแล้วรับเงินชดเชยอีกหลายแห่ง

นายจ้างเลือกปิดกิจการชั่วคราวลดต้นทุนผลิต

แต่ที่น่าสังเกตสำหรับกิจการต่างๆ ในปีนี้ หลายโรงงานเลือกใช้วิธีปิดโรงงานชั่วคราวมากขึ้น มีทั้งปิดบางส่วน หรือปิดทั้งโรงงาน และปิดสั้นยาวไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างบริษัท NIPPON STEEL สัญชาติญี่ปุ่น ประกาศแจ้งพนักงานหยุดงานชั่วคราว วันเสาร์ 1 วัน โดยอ้างว่างานน้อยลง รวมถึงบริษัท ไทยซัมมิท โอโตโมทีฟ ชิ้นส่วนยานยนต์ ในเครือไทยซัมมิท กรุ๊ป หยุดการผลิตบางส่วน 3 เดือน

การปิดงานชั่วคราว ไม่ใช่ปิดบริษัท เป็นวิธีการที่นายจ้างเลือกใช้มากขึ้นปีนี้ มาตรา 75 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เปิดทางให้เจ้าของกิจการปิดงานชั่วคราวได้ แต่ต้องจ่ายเงิน 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างในระหว่างรอกลับมาทำงาน และต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันทำการ ให้ลดต้นทุนผลิตได้ แต่ไม่ถึงขั้นเลิกจ้าง

ส่วนระยะเวลาจะสั้นยาวแค่ไหนกฎหมายไม่ได้กำหนด ขึ้นอยู่กับความสามารถของสถานประกอบการ พบว่าปีนี้ มีสถานประกอบการเลือกใช้วิธีนี้มากขึ้นผิดหูผิดตา ปีที่แล้ว 114 แห่ง ปีนี้ 260 แห่ง ลูกจ้างที่ต้องรับกับวิธีนี้ 67,000 คนในปีที่แล้ว เพิ่มเป็น 150,000 คนในปีนี้ นี่เป็นสัญญาณบางอย่างถึงสภาพธุรกิจและเศรษฐกิจ

"ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์" นิยมหยุดงานชั่วคราว

จากการสอบถามตัวแทนฝ่ายนายจ้างว่าการใช้วิธีหยุดงานเกิดกับกลุ่มอุตสาหกรรมใด และเกิดจากปัญหาใดกันแน่ ได้รับข้อมูลว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มักใช้วิธีนี้ คือกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบปัญหาคำสั่งซื้อชะลอลงมาก การส่งออกจากต้นปีจนถึงปัจจุบันเทียบกับปีก่อน ลดลงทั้ง ชิ้นส่วนยานยนต์ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์แผงวงจรไฟฟ้า รวมเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด

สำหรับปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ผ่านไปกว่า 1 ปี เริ่มเห็นผลกระทบรุนแรงมากขึ้นกับไทย ตลาดส่งออกที่ไทยส่งสินค้าไปมากๆ หดตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจีนที่การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ทำให้จีนส่งสินค้าไปน้อยลง จึงสั่งวัตถุดิบจากไทยลดลงเช่นกัน สิ่งที่ซ้ำเติม คือค่าเงินบาทที่แข็งค่า ต่างจากคู่แข่งอื่น

ทั้งนี้ หากกำไรของสินค้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินบาทตั้งแต่ต้นปีแข็งค่า 6 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ เมื่อขายสินค้าราคาเดิมก็จะขาดทุนอยู่เรื่อยๆ ถ้าจะรับออเดอร์ใหม่ในราคานั้นแล้วต้องขาดทุนเพิ่มอีก ผู้ประกอบการก็จะตัดสินใจไม่รับให้ขาดทุนเพิ่ม จึงหันมาปิดงานชั่วคราวในโรงงานแทน

ปัจจัยปัญหาเศรษฐกิจ กำลังเป็นแรงกดดัน ให้เกิดการปรับโครงสร้างแรงงานเร็วขึ้น ขณะที่ปัจจัยโพรดักส์เทรนด์ หรือเทคโนโลยีใหม่แทนคน ยิ่งผลักดันให้อุตสาหกรรมปรับเร็ว มีโอกาสที่การเลิกจ้างจะเพิ่มขึ้น กระทรวงแรงงาน คงต้องตั้งรับกับปัญหานี้ ส่วนเศรษฐกิจอื่นตั้งรับกับการค้าหดหายกับหลายอุตสาหกรรม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครัวเรือน "กทม.-ปริมณฑล" 8.5% ชี้มีสัญญาณเลิกจ้างในองค์กร 

วิกฤตเลิกจ้างส่อลุกลาม หลังเศรษฐกิจชะลอตัว

เครือสหพัฒน์ยืนยันไม่ได้ปลดพนักงานต่างชาติกว่า 1,000 คน 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง