สำรวจราคาที่ดินในพื้นที่ฟลัดเวย์ลดลง 20 เปอร์เซ็นต์

เศรษฐกิจ
24 ก.พ. 55
01:25
8
Logo Thai PBS
สำรวจราคาที่ดินในพื้นที่ฟลัดเวย์ลดลง 20 เปอร์เซ็นต์

พื้นที่น้ำหลาก หรือ ฟลัดเวย์ ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำไหลผ่านเพื่อระบายน้ำเป็น 1 ใน 6 พื้นที่รับน้ำนองตามนโยบายของ กยน. ซึ่งมีรายงานว่า พื้นที่ฟลัดเวย์จะอยู่ที่ด้านตะวันออกของคลองระพีพัฒน์ และ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน แน่นอนว่า ทันทีที่มีรายงานดังกล่าว ราคาที่ดินในย่านที่มีการขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ปีกลับปรับราคาลดลง

ตามแผนของคณะทำงานจัดหาพื้นที่รับน้ำนองซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการสรุปเขตพื้นที่รับน้ำและแก้มลิงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการสรุปพื้นที่อย่างเป็นทางการ จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ หรือ กยน. แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า พื้นที่รับน้ำในลักษณะของฟลัดเวย์ หรือ พื้นที่น้ำหลาก จะเป็นพื้นที่ใดบ้าง แต่เบื้องต้นมีรายงานแล้วว่า จุดที่เป็นฟลัดเวย์จะอยู่ที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และ ฝั่งตะวันออกของคลองระพีพัฒน์ รวมถึงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็นพื้นที่กั้นระหว่างคันกั้นน้ำกับแม่น้ำท่าจีน

ขณะที่แวดวงอสังหาริมทรัพย์ ประเมินว่า รัฐอาจใช้พื้นที่สีเขียว ในบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางน้ำหลาก และ อาจเพิ่มเติมในพื้นที่โดยรอบกรุงเทพมหานครอีกหลายจุด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริงจะทำให้เราคาที่ดินบริเวณที่จะทำเป็นฟลัดเวย์ และ บริเวณใกล้เคียง มีแนวโน้มที่จะลดลงทันทีร้อยละ 20 เพราะเห็นชัดเจนว่าเป็นพื้นที่รับน้ำ

แต่มีความเป็นไปได้ในลักษณะตรงกันข้าม คือราคาอาจไม่ปรับลดลง เพราะกลุ่มนายทุนอาจต้องการซื้อไว้เพื่อเรียกร้องค่าเยียวยาจากภาครัฐ ในราคาสูงกว่าที่ซื้อต่อจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งวิธีนี้นายไพรัช มณฑาพันธุ์ นายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย มองว่า แม้จะเป็นไปได้ แต่อาจเกิดขึ้นได้ยาก

นอกเหนือไปจากราคาที่ดินที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากอุทกภัยภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการสรุปตัวเลขความเสียหายอย่างเป็นทางการ แต่ศูนย์ข้อมูลวิจัย และประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย คาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ เกิดใหม่ประมาณ 86,000 หน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 250,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเติบโตน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนปีที่แล้ว ที่มีการก่อสร้าง 85,000 หน่วย

 
ในจำนวนนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดใหม่ ยังพบว่า รูปแบบสิ่งปลูกสร้างจะเน้นไปที่คอนโดมิเนียมมากถึง ร้อยละ 60 ซึ่งส่งผลอย่างแน่นอนเกี่ยวกับราคาต้นทุนของคอนโดเนียม ที่ปรับเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 6-10 และหมายความรวมถึงราคาขายที่จะปรับตัวขึ้นตามไปด้วย

ส่วนแนวโน้มการก่อสร้างบ้านใหม่นั้น สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ประเมินว่าจะมีมูลค่าลดลงในพื้นที่กรุงเทพมหานครเล็กน้อย แต่จะเติบโตในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3,200 ล้านบาท สอดคล้องกับผลศึกษาที่พบว่า ประชาชนเลือกซื้อที่พักอาศัยสำรองในต่างจังหวัดซึ่งเป็นบ้านเดี่ยวมากที่สุดถึงร้อยละ 66 ส่วนในกรุงเทพนั้น ประชาชนเลือกจะซื้อคอนโดมิเนียมเป็นที่พักสำรองมากที่สุดร้อยละ 16

นอกจากนี้ยังพบว่าประเภทบ้านที่ยกพื้นสูง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ประชาชนตัดสินใจในการสร้างบ้านถึงร้อยละ 78 ขณะเดียวกันก็ความชัดเจนว่าราคาต้นทุนของคอนโดมิเนียมปีนี้ จะปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 6-10

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง