จนท.ป่าไม้ยืนยันอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็น "พื้นที่ต้นน้ำ-ป่าสักเหนือตอนล่าง-ช่วยน้ำท่วม"

สิ่งแวดล้อม
23 เม.ย. 55
07:44
33
Logo Thai PBS
จนท.ป่าไม้ยืนยันอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็น "พื้นที่ต้นน้ำ-ป่าสักเหนือตอนล่าง-ช่วยน้ำท่วม"

โครงการเขื่อนแม่วงก์กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในจุดที่กำหนดให้เป็นบริเวณสันเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ พบว่า ป่าต้นน้ำได้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ช่วยซับ และชะลอน้ำในฤดูฝนได้เป็นอย่างดี

สภาพป่าบริเวณแก่งลานนกยูง หน่วยห้วยแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ป่าไม้ยังคงเขียวชอุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงแล้งจัด และรวมถึงขนาดของต้นไม้มีขนาดไล่เลี่ยกัน เพราะเกิดจากการฟื้นตัวของป่าโดยธรรมชาติ  

เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ป่าบริเวณนี้เคยโล่งเตียนเพราะถูกสัมปทานทำไม้ และบางส่วนก็เป็นไร่ทำกินของชาวบ้าน แต่หลังจากมีการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และมีการอพยพชาวบ้านออกจากป่า ระบบนิเวศก็เริ่มฟื้นฟูตัวเอง รวมถึงได้รับการปกป้องดูแลรักษา จนกลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กล่าวว่า ในป่าลึกด้านในจะพบไม้สักและไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้ถูกตัดโค่นเมื่อครั้งมีการให้สัมปทานป่าเพราะต้นเล็กเกินไป แต่เมื่อผ่านมาร่วม 30 ปี ก็กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะต้นสัก ซึ่งมีมากจนเรียกได้ว่าเป็นป่าสักผืนใหญ่แห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนล่าง และหากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะทำให้ ผืนป่าบริเวณนี้และแก่งลานนกยูง ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ท้องกะทะ ต้องจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำกว่า 13,000 ไร่

นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลจากทางอุทยานฯ ว่า ผืนป่าที่เริ่มกลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ เป็นตัวช่วยซับน้ำในฤดูฝน ลดความรุนแรงของน้ำที่ไหลลงสู่พื้นที่ด้านล่าง ซึ่งแตกต่างจากเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ผืนป่าแม่วงก์ถูกทำลาย ไม่มีแหล่งซับและชะลอน้ำ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำหลากท่วมในเขต อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง