โต้ปม "ถอดเขี้ยว-หนังเสือ" ป่วยตาย ยัน 86 ซากไม่หาย

สิ่งแวดล้อม
17 ก.ย. 62
12:32
571
Logo Thai PBS
โต้ปม "ถอดเขี้ยว-หนังเสือ" ป่วยตาย ยัน 86 ซากไม่หาย
"วราวุธ" ยืนยัน "หนังเสือโคร่ง-เขี้ยว" เสือโคร่งของกลาง 86 ตัวที่ป่วยตายยังอยู่ครบทั้งตัว โดยเจ้าหน้าที่เก็บและกลบฝังซากตามหลักวิชาการ บรรจุในถังแช่ฟอร์มาลีน ไม่มีการแยกชิ้นส่วน พร้อมคุมการแพร่ระบาดโรคไข้หัดสุนัขในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า

กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แถลงข่าวเสือโคร่งของกลางที่ตรวจยึดได้จากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี ตาย 86 ตัว จากทั้งหมด 147 ตัว โดยเริ่มมีการตั้งคำถามเรื่องการจัดการซากเสือ รวมทั้งข้อสังสัยว่าหนังเสือ-เขี้ยวเสือจะหายหรือไม่

วันนี้ (17 ก.ย.2562) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณีที่หลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดป่าหลวงตาบัวฯ แจ้งว่า เขี้ยวเสือและชิ้นส่วนของเสือส่วนอื่น ๆ ได้หายไป ว่า ไม่ต้องห่วง โดยเตรียมจะลงไปดูสภาพซากเสือว่ายังสมบูรณ์หรือไม่ ส่วนกรณีที่ทางวัดจะขอเสือกลับไปดูแลเองนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากยังอยู่ในคดีความ

การขอเสือโคร่งกลับไปดูแลเองเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของคดีความ และการนำเข้าเสือไซบีเรียมาเลี้ยงในไทยก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เป็นเขตร้อนชื้นไม่เหมาะกับการเลี้ยงเสือสายพันธุ์นี้อยู่แล้ว

ฝังกลบทั้งถัง-ไม่ถอดเขี้ยว-หนัง 

ด้านนายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงการจัดการซากเสือว่า ดำเนินการตามหลักวิชาการ คือ เมื่อเสือตายจะแจ้งความ ผ่าพิสูจน์ซาก พร้อมส่งตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ และเก็บซากทั้งตัวลงในถังพลาสติก 200 ลิตร โดยเติมน้ำที่ผสมฟอร์มาลิน ร้อยละ 10 ใส่ลงในถึงจนท่วมซากเสือและปิดผา ซึ่งทุกซากจะมีการเขียนชื่อเสือ เลขหมาย และถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน

ไม่มีการแยกชิ้นส่วน ไม่แยกหนัง เขี้ยว จะเก็บทั้งซากในถัง หรือฝังดินทั้งถัง และโรยปูนขาว พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ก่อนกลบดินฝังอีกชั้น สูง 1 เมตรจากผิวดิน

 

ส่วนกรณีการนำซากฝังดินจะเป็นการใช้ดุลยพินิจของผู้ปฏิบัติงาน โดยนำซากเสือพร้อมถังฝังดิน ขณะนี้ฝังดินแล้วประมาณ 40 ตัว เนื่องจากฟอร์มาลินเสื่อมสภาพ ทำให้ซากเน่าและเกิดก๊าซจนดันฝาถัง มีกลิ่นเหม็นและอาจเกิดเชื้อโรคได้ พร้อมยืนยันว่าสามารถควบคุมโรคได้แล้ว และไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หัดสุนัขในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า

 

เสือดังกล่าวถูกย้ายมาดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง 85 ตัว ตาย 54 ตัว และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน 62 ตัว ตาย 32 ตัว ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 ถึงเดือนสิงหาคม 2562 สาเหตุหลักเกิดจากโรคอัมพาตลิ้นกล่องเสียง และโรคไข้หัดสุนัข 2 ตัว โดยเสือดังกล่าวมีสภาพอ่อนแอ มีภาวะเลือดชิดที่ส่งผลกระทบให้ภูมิคุ้มกันต่ำ เจ็บป่วยง่าย และเกิดความเครียด ส่วนเสือที่เหลืออยู่ 61 ตัว ขณะนี้มีอาการป่วย 44 ตัว ในจำนวนนี้อาการหนัก 5 ตัว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ย้อนเส้นทางเสือโคร่งของกลาง 147 ตัว

เฝ้าระวังเสือโคร่ง 44 ตัว "เครียด-เลือดชิด-ติดโรค" เสี่ยงตายเพิ่ม

 แกะรอยเส้นทางแพร่ "โรคหัดสุนัข" ภัยเงียบคร่าเสือ 86 ชีวิต 

"เสือโคร่ง" ของกลางป่วยหัดสุนัข-อัมพาตลิ้นกล่องเสียงตาย 86 ตัว 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง