"อาเซียน-จีน" เดินหน้าหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ปี 2030

ต่างประเทศ
3 พ.ย. 62
12:49
2,015
Logo Thai PBS
"อาเซียน-จีน" เดินหน้าหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ปี 2030
อาเซียน และจีน เดินหน้ากระชับความร่วมมืออย่างรอบด้านตามวิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ค.ศ.2030 ขณะที่อาเซียน และอินเดีย เตรียมร่วมผลักดันความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้ (3 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 ณ ห้อง Sapphire 204 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน โดยมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศอาเซียน และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่อาเซียนและจีนจะได้เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้สูงขึ้นอีกระดับ เพื่อประโยชน์ร่วมกันและของภูมิภาค ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนถือว่ามีพลวัตมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากพัฒนาการความสัมพันธ์ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นเสาหลักสำคัญที่ค้ำจุนสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนของภูมิภาค

"อาเซียน" ชมจีนช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือด้านต่างๆ


ไทยในฐานะประธานอาเซียน หวังที่จะเห็นความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป เพื่อความผาสุกและผลประโยชน์ของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ อาเซียนชื่นชมจีน สำหรับบทบาทในการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและในการช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจความเชื่อมโยง และความร่วมมือระหว่างประชาชนอย่างแข็งขัน

ในปี 2561 ที่ผ่านมา ครบรอบ 15 ปี ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียนและจีน โดยได้รับรอง “วิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030” ที่ถือเป็นแนวทางความสัมพันธ์อย่างรอบด้านระหว่างกัน โดยที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายได้กระชับความร่วมมือตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว เช่น การที่จีนยังคงตำแหน่งคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันถึง 1 ล้านล้าน และ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ภายในปีหน้า การที่อาเซียนและจีนจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยมีแผนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนแม่บทของอาเซียนในเรื่องนี้ (MPAC 2025) กับ BRI ของจีน รวมถึงการสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

ไทยเชิญชวน "อาเซียน-จีน-ประเทศที่ 3" ลงทุนใน EEC

นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาพลวัตด้านความมั่นคงที่ยั่งยืนระหว่างกัน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ และร่วมมือกันเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ผ่านกลไกต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับ Greater Bay Area (GBA) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจที่สูง รวมทั้งประสงค์ที่จะเชิญชวนให้อาเซียน จีน และรวมถึงประเทศที่สาม มาลงทุนใน EEC ในภาคตะวันออกของไทย

โดยไทยยินดีที่จะประกาศว่า อาเซียนและจีนกำหนดให้ปี พ.ศ. 2563 เป็น “ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน” ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า จะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อความมั่งคั่งของภูมิภาค

"อาเซียน-อินเดีย" ตั้งเป้าพัฒนาทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 11.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 16 ณ ห้อง Sapphire 203 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อทบทวนความร่วมมือในกรอบอาเซียน-อินเดียในมิติการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียในอนาคต และเพื่อหารือ แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยมีผู้นำจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย

นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมอินเดียในนามอาเซียนว่า อินเดียถือเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียนที่จะร่วมมือกันในการส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด อาเซียนยินดีที่นายกรัฐมนตรีอินเดียให้ความสำคัญกับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านนโยบายมุ่งตะวันออกของอินเดีย เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทำให้ยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-อินเดียมีพลวัตมากยิ่งขึ้น

ด้านความมั่นคง อาเซียนชื่นชมที่อินเดียสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนบนพื้นฐานของภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) และผ่านกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำหลากหลาย อาทิ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM plus) ซึ่งนำไปสู่การรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญก้าวหน้าในภูมิภาค

ตลอดจนชื่นชมอินเดียที่ให้การสนับสนุนมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก โดยเป็นมุมมองที่ตั้งอยู่บนหลักการ 3M ได้แก่ ความเคารพซึ่งกันและกัน(Mutual Respect) ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) ผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) และความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-อินเดียให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ตลอดจนย้ำถึงความร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้าย แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง อาชญากรรมข้ามชาติและความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

เพิ่มมูลค่าการค้า-ลงทุนเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ด้านการค้าการลงทุน เน้นย้ำความพยายามเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้บรรลุ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2022 โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ในการนี้ ไทยยินดีที่ได้ริเริ่มการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย (AITIGA) เพื่อทำให้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียสามารถใช้ประโยชน์ได้สะดวกและง่ายในทางปฏิบัติและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งขจัดอุปสรรคทางการค้า พร้อมเน้นย้ำความสำคัญในการบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการสรุปการเจรจา RCEP ภายในปี 2019


ด้านวัฒนธรรม ชื่นชมกับความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยว การศึกษา การแลกเปลี่ยนนักวิชาการและเยาวชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และไอซีที ทั้งนี้ ไทยส่งเสริมให้อาเซียนและอินเดียเพิ่มความพยายามในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-อินเดียปี ค.ศ. 2016-2020 และยินดีต่อความสำเร็จของปีความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน-อินเดีย 2019 ชื่นชมความพยายามของอินเดียในการสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชนและความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและอินเดียให้แน้นแฟ้น

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณอินเดียในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน และให้การสนับสนุนไทยและอาเซียนมาโดยตลอด โดยเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันจะพัฒนาในมิติที่หลากหลายเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของทั้ง 2 ภูมิภาคร่วมกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้นำไทยชูสานสัมพันธ์นอกภูมิภาครับความท้าทายโลก 

ไทยพร้อมสนับสนุน "เวียดนาม" ประธานอาเซียนในปีหน้า

"มหาธีร์" หนุนไทยใช้สันติวิธีแก้ปัญหาชายแดนใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง