"สมคิด" นั่งหัวโต๊ะถกแนวทางกู้วิกฤตการบินไทยจากพิษ COVID-19

เศรษฐกิจ
16 เม.ย. 63
11:32
1,000
Logo Thai PBS
"สมคิด" นั่งหัวโต๊ะถกแนวทางกู้วิกฤตการบินไทยจากพิษ COVID-19
รองนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมแผนฟื้นฟูการบินไทย เพื่อกู้วิกฤตหลังเหลือเงินสด 12,000 ล้านบาท จ่ายเงินเดือนพนักงานได้ถึง เม.ย.นี้ ด้าน รมว.คมนาคม คาดแผนฟื้นฟูเสร็จภายในสัปดาห์หน้า มั่นใจการบินไทยกลับมาแข็งแรง

วันนี้ (16 เม.ย.2563) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมแผนฟื้นฟูวิกฤตการบินไทย มีรัฐมนตรีในกระทรวงและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เช่น กระทรวงการคลัง  กระทรวงคมนาคม บมจ.ปตท. บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) รวมถึงเอกชนรายใหญ่ เช่น เครือเซ็นทรัล เครือซีพี ไทยเบฟ


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า ภายหลังจากหารือวันนี้ จะต้องสรุปแผนฟื้นฟูวิกฤตการบินไทยให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา มั่นใจแผนฟื้นฟูรอบใหม่จะทำให้การบินไทยกลับมาแข็งแรง

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูการบินไทย ทางฝ่ายบริหารการบินไทย ได้เสนอแนวทางรอด เบื้องต้น โดยให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม อนุมัติให้การบินไทยกู้เงิน 70,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เพื่อนำมาบริหารจัดการและฟื้นฟูการบินไทย บนพื้นฐานที่ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะต้องจบลงภายในเดือน ต.ค.นี้ และการบินไทยสามารถทำการบินใหม่ได้ รวมถึงมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ แต่หากสถานการณ์ล่วงไปกว่านั้นจำนวนเงินที่ต้องใช้ก็จะมากขึ้นกว่านี้


ฝ่ายบริหาร ยังระบุว่า สถานะการเงินของการบินไทยขณะนี้ มีเงินสดที่สามารถหมุนเวียนบริหารจัดการตลอดปีนี้อยู่ที่ 10,000-12,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จะสามารถนำมาจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นการจ่ายให้กับเจ้าหนี้ที่การบินไทยมีอยู่

ทั้งนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อนุมัติแผนการกู้เงินเพื่อมาบริหารจัดการในการบินไทยโดยเร็ว

หาทุนร่วม - แหล่งเงินกู้ เสริมสภาพคล่องการบินไทย

มีรายงานข่าวในอุตสาหกรรมการบิน ระบุว่า แนวทางการฟื้นฟูการบินไทยนั้น จะเป็นทางออกที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจ โดยประเด็นแรก คือ การจัดหาผู้ร่วมทุนเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นการบินไทย ซึ่งอาจเป็นบริษัท Corporate ที่มีสภาพคล่องเพียงพอ แต่แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว อาจเป็นไปได้ยาก เพราะอุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึงสภาพโครงสร้างการบินไทย ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีค่าใช้จ่ายผูกพันจำนวนมาก หากที่มาของแหล่งรายได้ชะงักลง ก็จะเกิดความไม่สมดุลย์ระหว่างรายรับกับรายจ่ายทันที

ภาพ : Thai Airways

ภาพ : Thai Airways


อีกประเด็น คือ การจัดหาแหล่งเงินกู้เข้ามาเสริมสภาพคล่องให้การบินไทยวงเงิน ตั้งแต่ 50,000 - 70,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง ต้องค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว แนวทางนี้อาจเป็นไปได้ยาก เพราะการจัดหาเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจ 1 แห่ง ในวงเงินสูงรัฐบาลจะต้องโดนแรงกดดันจากทุกภาคส่วนแน่นอน ในสถานการณ์ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชนจากผลกระทบไวรัส COVID-19 และอยู่ระหว่างการออก พ.ร.ก.กู้เงิน ฯ 1.9 ล้านล้านบาท

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กพท.ขยายเวลาห้ามเครื่องบินโดยสารเข้าไทยถึง 30 เม.ย.นี้

ทั่วโลกติดเชื้อ COVID-19 แตะ 2 ล้านคน

พิษ COVID-19 ทำเอา "อุตสาหกรรมการบิน" อาจถึงล่มสลาย?

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง