วิเคราะห์ : ใครอยู่เบื้องหลังความรุนแรงเหตุจลาจลในสหรัฐฯ

ต่างประเทศ
2 มิ.ย. 63
08:08
5,398
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : ใครอยู่เบื้องหลังความรุนแรงเหตุจลาจลในสหรัฐฯ
การประท้วงถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความเห็นและการแสดงออกของประชาชน แต่หลายครั้งที่กลายเป็นเหตุจลาจลและปล้นสะดม เช่นเดียวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งทางการสหรัฐฯ เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สถานการณ์พาไป แต่เป็นความตั้งใจของคนบางกลุ่ม

กลุ่มที่ถูกเอ่ยชื่อขึ้นมามีทั้งกลุ่มที่มีแนวคิดซ้ายจัด ขวาจัด กลุ่มที่ต้องการทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้ง หากดูเผินๆ แล้ว กลุ่มเหล่านี้มีแนวคิดที่ต่างกันสุดขั้ว แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการฉวยโอกาสสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตัวเอง

โดยหนึ่งในกลุ่มที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในครั้งนี้ คือกลุ่มที่ถูกเรียกว่า "แอนติฟา" ซึ่งเป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า แอนติ ฟาสซิสต์ หมายถึง กลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์ เป็นกลุ่มแนวคิดซ้ายสุดโต่ง ที่ต่อต้านแนวคิดขวาจัดด้วยความรุนแรง และยังเป็นกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลที่นิยมลัทธิอนาธิปไตย

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระบุว่า กลุ่มแอนติฟาปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในหลายเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ และรัฐบาลจะประกาศให้กลุ่มนี้เป็นองค์กรก่อการร้าย เพราะเชื่อว่ากลุ่มนี้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงในการประท้วงหลายครั้งก่อนหน้านี้

กลุ่มแอนติฟาเป็นองค์กรที่รวมตัวกันแบบหลวมๆ ไม่มีผู้นำกลุ่มที่ชัดเจน ไม่มีสำนักงานอย่างเป็นทางการ แต่ในบางรัฐจะมีการรวมตัวของคนที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน และจัดการประชุมพบปะกันเป็นระยะๆ หรือรวมกลุ่มกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์

"บูกาลู" อีกกลุ่มต้องสงสัยเกี่ยวข้องเหตุจลาจล

เมืองมินนิอาโพลิส รัฐมินนิโซตา คือจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ชาวผิวสีเสียชีวิตจากการถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดที่คอนานเกือบ 9 นาที ในระหว่างการควบคุมตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่การประท้วงในรัฐนี้จะรุนแรงกว่าที่อื่นๆ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือข้อมูลที่ได้พบว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่ถูกจับในเหตุจลาจลช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในรัฐมินนิโซตาเป็นคนที่เดินทางมาจากรัฐอื่น

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับรายงานของเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงาน ที่พบว่ามีหลายกลุ่มที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับการก่อจลาจล ซึ่งนอกเหนือไปจากกลุ่มแอนติฟาแล้ว ยังมีกลุ่มที่เรียกว่า บูกาลู ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการทำให้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ขึ้นในประเทศ กลุ่มนี้จึงได้พยายามฉวยโอกาสก่อเหตุรุนแรงในทุกสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่มีแนวคิดซ้ายจัดและขวาจัด กลุ่มเชิดชูคนขาวแบบสุดโต่ง และเจ้าหน้าที่ยังพบว่ามีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง โดยพบว่ามีบัญชีผู้ใช้เชื่อมโยงกับ 3 ประเทศ ที่เป็นศัตรูกับสหรัฐอเมริกา คือ รัสเซีย อิหร่านและจีน

 

แม้ว่าจะมีกลุ่มต้องสงสัยมากมาย แต่กลุ่มที่ถูกทรัมป์พุ่งเป้าโจมตีคือ กลุ่มแอนติฟา ที่ทรัมป์เตรียมประกาศให้ขึ้นชั้นเป็นกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ ซึ่งเอฟบีไอ ได้นิยามความหมายของ "ผู้ก่อการร้ายในประเทศ" ว่าเป็นกลุ่มที่สนับสนุนการใช้หรือข่มขู่ที่จะใช้ความรุนแรงที่ผิดกฎหมาย ต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน เพื่อคุกคามหรือขู่เข็ญรัฐบาล พลเรือน หรือกลุ่มใดๆ เพื่อหวังผลทางการเมืองหรือสังคม

ขณะที่ล่าสุด สหรัฐฯ ยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกำหนดหรือตราหน้าให้กลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศทั้งหมด เป็นกลุ่มก่อการร้ายได้ ซึ่งแตกต่างไปจากกฎหมายที่ออกมาใช้กับกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติก่อนหน้านี้ ส่วนหน่วยงานที่มีอยู่ขณะนี้ก็ถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้คาดว่าทางการจะใช้เครือข่ายของคณะทำงานร่วมด้านการก่อการร้ายในการจับกุม และตั้งข้อหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงแทน

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า การปล้นสะดมที่เกิดขึ้นในหลายๆ เมือง น่าจะเป็นการฉวยโอกาสในช่วงที่มีเหตุจลาจล หรืออาจจะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากร เช่น เหตุการณ์ที่เกิดในชิคาโก ที่พบว่ามีกลุ่มคนบุกเข้าไปปล้นร้านค้า และจากนั้นไม่นานก็มีรถบรรทุกมาจอดรับของที่ถูกขโมยออกมาจากร้านไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เรียกร้อง "ทรัมป์" อย่าเติมเชื้อไฟประท้วงในสหรัฐฯ

ทั่วสหรัฐฯ ประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้ "จอร์จ ฟลอยด์"

ชุมนุมเดือด! ไม่พอใจ ตร.สหรัฐฯ ใช้เข่ากดคอหนุ่มผิวสีเสียชีวิต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง