บาดเจ็บเหตุชุมนุม 55 คนโดนยิง 6 แก๊สน้ำตา 32 คน

อาชญากรรม
18 พ.ย. 63
12:09
940
Logo Thai PBS
บาดเจ็บเหตุชุมนุม 55 คนโดนยิง 6 แก๊สน้ำตา 32 คน
ศูนย์เอราวัณ สรุปตัวเลขผู้บาดเจ็บจากการปะทะ และการสลายชุมนุมกลุ่มราษฎรเมื่อวานนี้ ( 17 พ.ย.) ที่หน้ารัฐสภา และแยกเกียกกาย 55 คน พบถูก 6 คนถูกยิง แต่ยังไม่ยืนยันกระสุนจริงหรือกระสุนยาง ส่วนอีก 32 คนถูกแก๊สน้ำตา 32 คน ด้านทวี ระบุมีคนบาดเจ็บถูกยิงจริง

วันนี้ (18 พ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์เอราวัณ รายงานตัวผู้บาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎร และการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ กับผู้ชุมนุม และมวลชน บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) ระบุว่าปัจจุบันมียอดผู้ได้รับบาดเจ็บแล้วรวม 55 คน โดยแบ่งเป็น ผู้ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา 32 คน ถูกยิง 6 คน (ไม่มีการยืนยันว่ากระสุนจริง หรือกระสุนยาง) มีอาการป่วยขณะชุมนุม 4 คน และบาดเจ็บอื่นๆ 13 คน โดยรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่างๆ ดังนี้

  • โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 37 คน
  • โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 5 คน
  • โรงพยาบาล พระรามเก้า 4 คน
  • โรงพยาบาลราชวิถี 4 คน
  • โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 คน 
  • โรงพยาบาลเพชรเวช 1 คน
  • โรงพยาบาลกลาง 1 คน
  • โรงพยาบาลเลิดสิน 1 คน
  • โรงพยาบาลมิชชั่น 1 คน

"ทวี" อ้างผู้ชุมนุมโดนยิงบาดเจ็บ

ขณะที่การประชุมร่วมกันของรัฐสภา และลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วันที่ 2 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.ประชาชาติ กล่าวในสภาว่า วันนี้ผมเดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนจริงแต่เช้า แต่ไม่ได้เยี่ยม เพราะเขาต้องเข้าผ่าตัด สอบถามทราบว่าเป็น นักศึกษา เขาบอกว่าเขาเดินทางมาไม่ได้ต้องการอะไรจากประเทศ แต่ต้องการอนาคตที่ดี เขาสู้ข้างนอก แต่พวกเรานั่งอยู่ในห้องแอร์ ดังนั้น การตัดสินใจเราไม่กี่นาที อาจเป็นการทำร้ายประเทศ การสร้างสันติภาพไม่ใช่หาคนแพ้ชนะ แต่ต้องหาทางให้ประเทศเดินต่อไปได้

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  ตอบนายทวี ว่าเมื่อคืนให้นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเยี่ยมคนที่บาดเจ็บจากเหตุชุมนุม และถ้าพร้อมช่วงหลังลงมติก็ให้ไปเยี่ยมอีกครั้ง นอกจากนี้ยัง กำชับให้เจ้าหน้าที่สภาติดตามกระทำผิด และใช้ข้อความที่ไม่เหมาะสม จะให้ฝ่ายเลขาประสานดำเนินการ

กสม.กังวลเหตุชุมนุมห่วงรุนแรง

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ระบุว่า รู้สึกเป็นกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมที่อาจมีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง และเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงระหว่างกลุ่มที่มีความเห็นต่าง จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณา 4 เรื่อง ดังนี้ 1.ขอผู้ชุมนุมและประชาชนที่เห็นต่างทุกฝ่ายควรเคารพในสิทธิและเสรีภาพในความคิด ความเชื่อ และการแสดงออกของบุคคลอื่น โดยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน การสร้างเงื่อนไข และการสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่สร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อกันในทุกกรณี

2.รัฐบาลต้องเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้แนวทางสันติวิธีในการเจรจาแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างเป็นธรรมกับผู้ชุมนุมทุกฝ่าย หากไม่ปรากฏเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง จะต้องไม่ใช้มาตรการในการสลายการชุมนุมจนกระทบต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายของทุกฝ่าย ควรนำมาตรฐานสากลมาปรับใช้ตามสมควรแก่กรณีเพื่อให้มีลำดับขั้นตอน และวิธีการที่จะใช้ในการควบคุมการชุมนุมอย่างเหมาะสม 

3.รัฐบาลควรเร่งเยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมอย่างรวดเร็วและเสมอภาค รวมทั้งเพิ่มมาตรการป้องกันการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บมาดำเนินคดีโดยเร็ว 4.สมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ควรร่วมกันใช้กลไกรัฐสภาในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายร่วมด้วย เพื่อมิให้สถานการณ์บานปลายและนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตร.ปัดใช้กระสุนคุมชุมนุม-เก็บหลักฐานเหตุปะทะแยกเกียกกาย

ชุมนุมหน้ารัฐสภาวุ่น บาดเจ็บเบื้องต้นเกือบ 20 คน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง