"หมอธีระ" ชี้ COVID-19 ระบาดซ้ำเสี่ยงทุกคน-ทุกที่

สังคม
8 ม.ค. 64
11:21
435
Logo Thai PBS
"หมอธีระ" ชี้ COVID-19 ระบาดซ้ำเสี่ยงทุกคน-ทุกที่
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่าสถานการณ์การระบาดซ้ำของ COVID-19 ขณะนี้มีความเสี่ยงทุกคนและทุกที่ และมีโอกาสที่ระบบการสอบสวนและติดตามโรคจะรับไม่ไหว จึงจำเป็นที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการคุมระบาดอย่างเข้มข้น

วันนี้ (8 ม.ค.2564) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย โดยมองว่า จากไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ ขณะนี้ทุกที่มีความเสี่ยง และทำให้ทุกคนเสี่ยงเช่นกัน "Everywhere is riskier and everyone is at risk" โดยยกตัวอย่างการติดเชื้อที่กระจายไปในสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค หลายกิจกรรม หลายสถานที่ รวมถึงการไปติดกันในครัวเรือนของสมาชิกในครอบครัว

และเห็นว่า การระบาดซ้ำไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเสี่ยงอีกต่อไป แต่กระจายไปทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นผู้แพร่เชื้อ หรือผู้รับเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการยึดติดกับการตรวจกลุ่มเสี่ยง เพื่อหวังจะควบคุมโรค จึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป จำเป็นต้องตรวจพื้นที่เสี่ยง กิจกรรม/กิจการเสี่ยง ควบคู่ไปกับการปลดล็อกกฎเกณฑ์เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้ ไม่จำเป็นต้องมีอาการ หรือประวัติ ส่วนยุทธวิธีที่จะจัดการระบาดซ้ำได้คือ การตรวจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้ทุกวิธีที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม เช่น การแยงจมูก ร่วมกับการตรวจน้ำลายแบบรวมกลุ่มตรวจ การตรวจน้ำเสียจากชุมชนหรือสถานประกอบกิจการ

"Contact tracing system overload" จำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากในช่วงระบาดซ้ำ จะทำให้ระบบการสอบสวนโรคและติดตามโรคทำงานหนักมาก และอาจไม่สามารถรับมือไหว ดังนั้นหัวใจสำคัญที่สุดคือ มาตรการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อที่เคร่งครัด เพื่อลดการติดเชื้อให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ระบบการสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัสความเสี่ยง เป็นกระบวนการมาตรฐานที่จำเป็นต้องทำ แต่ในภาวะระบาดซ้ำ ให้ทำใจยอมรับว่า หากนโยบายและมาตรการป้องกันโรคระบาดไม่เข้มแข็งเข้มข้น หรือเคร่งครัดเฉียบขาดเพียงพอ ก็จะไม่สามารถระงับการแพร่กระจายได้ ดังนั้น การระบาดซ้ำ หากเยอะและกระจายไปทั่วภูมิภาค หลักการสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขคือ การทำให้อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหวไปมาหาสู่กัน ควบคู่กับการป้องกันตัวบุคคลไม่ให้ติดเชื้อ ด้วยการใช้อุปกรณ์ป้องกันและสุขนิสัย และเร่งหาผู้ติดเชื้อเพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา

สำหรับสิ่งที่ควรระวัง คือ 1.ตั้งแต่ปลายสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเป็นช่วงที่คนเดินทางในช่วงปีใหม่แล้วได้รับเชื้อมา จะเริ่มมีอาการ เพราะระยะฟักตัวเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน ดังนั้นขอให้คอยสังเกตอาการให้ดี หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรือท้องเสีย ขอให้รีบปรึกษาแพทย์ และไปตรวจ COVID-19

2.ตราบใดที่การเดินทางไปมาในพื้นที่อื่นๆ นอกจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยังดำเนินไปเช่นนี้ ตามหลักวิชาการแพทย์ยังยืนยันว่า คงมีการติดเชื้อกันไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคน เน้นย้ำว่าจำเป็นต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อตัวเอง ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น หากออกจากบ้านต้องใส่หน้ากากให้ปิดทั้งจมูกและปาก พกเจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์ และย้ำว่าไม่ควรกินในร้าน ควรซื้อกลับไปกินที่บ้าน หรือหากเป็นช่วงกลางวันที่ทำงาน ก็ซื้อใส่กล่องกลับไปแยกกินคนเดียว พร้อมขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“หมอประสิทธิ์” จี้ตั้ง รพ.สนาม หลังพื้นที่เสี่ยงส่งสัญญาณเตียงไม่พอ

นายกฯ ย้ำไม่โหลด "หมอชนะ" ไม่ผิด แต่อย่าปิดบังข้อมูล

COVID-19 ระลอกใหม่ ทำคนไทยเครียดขึ้น แนะฉีด "วัคซีนใจ"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง