แพทย์รามาฯ เทียบประสิทธิภาพ-ความปลอดภัย “วัคซีน COVID-19”

สังคม
5 พ.ค. 64
14:37
108,324
Logo Thai PBS
แพทย์รามาฯ เทียบประสิทธิภาพ-ความปลอดภัย “วัคซีน COVID-19”
คณะแพทยศาสตร์ รามาฯ เปิดผลการศึกษาประสิทธิภาพ-ความปลอดภัย วัคซีน COVID-19 ที่มีขายในปัจจุบัน แต่ละยี่ห้อว่า แตกต่างกันอย่างไร

วันนี้ (5 พ.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการ ของประสิทธิภาพวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ที่ไปทดสอบขนาดใหญ่ในหลายประเทศ

ตารางเปรียบเทียบผลการศึกษาด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่มีขายในปัจจุบัน

พบว่า
1.วัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแแบบแสดงอาการ 78.2 % ไม่ใช่ 50.4 % ตามที่มีการกล่าวอ้างในสื่อสังคมออนไลน์


2.วัคซีน Astra-Zeneca มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแแบบแสดงอาการ ตั้งแต่ 90 % - 62.1% ขึ้นอยู่กับกรณี เฉลี่ย 74 % (และบางการศึกษาก่อนหน้านี้ก็รายงานว่าเป็น 82.4 % ไม่ใช่ 66.7% เหมือนที่มีการกล่าวอ้างในสื่อสังคมออนไลน์


3.ประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรง วัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพ 100 % (ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงการเสียชีวิต)

และประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรง วัคซีน Astra-Zeneca มีประสิทธิภาพ 80 % และป้องกันอาการรุนแรง จนถึงการใช้ Oxygen และเข้า ICU ไปจนถึงการเสียชีวิต 100 % (ตารางแผ่นที่ 2)

4.ส่วนเรื่องราคา ที่มีการส่งข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ระบุว่า Sinovac ราคาแพงที่สุดนั้น ข้อมูลจากสถาบันวัคซีน ระบุว่า วัคซีนของ Sinovac  คือ 17 เหรียญสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับ Pfizer และถูกกว่า Sinopharm และ Moderna (ตารางแผ่นที่ 1)

5.ส่วน Astra-Zeneca ไม่มีข้อกังขาใดๆ ราคาถูกที่สุด เนื่องจากผลิตด้วยหลักการไม่แสวงหากำไร ราคาเท่าทุน และไทยมีความมั่นคงในการผลิต เนื่องจากผลิตได้เองจากในประเทศ ไม่ต้องกังวลปัญหาแบบ COVAX ที่ติดขัดเรื่องการส่งมอบ

 

6.หากมองด้วยข้อเท็จจริง ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด ไม่สามารถเปรียบเทียบกันตรงๆ ได้ เพราะไม่ได้ทำจากประเทศเดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน สายพันธุ์เดียวกัน (Pfizer และ Moderna ทำในช่วงที่มีการระบาดช่วงแรก สายพันธุ์เดิม ส่วน Astra-Zeneca ทำในช่วงที่คาบเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่อังกฤษ)

แต่สิ่งหนึ่งที่เปรียบเทียบกันได้อย่างชัดเจนก็คือ การเกิดอาการรุนแรง และการเสียชีวิต ซึ่งทุกวัคซีนป้องกันการเสียชีวิตได้ 100 % (หรือเกือบ 100 %)

7.ส่วนเรื่องราคา ก็เปรียบเทียบยากเช่นกัน เพราะวัคซีนไม่ได้เป็นสินค้าทั่วไปที่มีราคาแน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย ไม่ได้ขายราคาเดียวกันทั่วโลก เช่น บางประเทศลงทุนในช่วงการผลิตไปแล้ว จึงได้ราคาซื้อถูกลง (ซึ่งหากรวมเงินค่าลงทุนด้วยอาจจะแพงกว่ามาก)

หรือบางประเทศ มีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนต่างๆ หรือราคาในเดือนธันวาคม กับเดือนเมษายน ก็อาจจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเอาข้อมูลของเดือนไหนมา ดังนั้นราคาที่เปิดเผยอาจจะเป็นเพียงราคากลางๆ หรือราคาที่มีการซื้อขายกัน แต่ไม่จำเป็นว่าไทยหรือประเทศอื่นซื้อแล้วจะเป็นราคานี้

และถ้าเอากันจริงๆ ก็อาจจะต้องรวมค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและขนส่งอีก วัคซีนบางตัว เช่น ไฟเซอร์ และโมเดิร์นน่า ต้องเก็บในที่อุณหภูมิติดลบมากๆ -20 ถึง - 70 ต้องสร้างสถานที่เก็บทั่วประเทศ หรือต้องใช้รถขนส่งแบบพิเศษ ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกไม่รู้เท่าไหร่

 

แต่วัคซีนของ Sinovac กับ Astra-Zeneca ต้องการความเย็นเพียง -2 ถึง -8 ใส่ตู้เย็นธรรมดาๆ ได้เลย จึงสะดวกกว่ามากในการขนส่งและเก็บรักษา และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นี่ยังไม่ได้รวมว่า Astra-Zeneca ผลิตในประเทศด้วย ไม่ต้องเสียค่าขนส่งข้ามประเทศอีกต่างหาก

8.เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าว Bloomberg ถามผู้เชี่ยวชาญทางวัคซีนสองคนจากออสเตรเลีย ว่า ควรฉีดวัคซีน Sinovac หรือไม่ Prof. Russell ตอบว่า “ไม่ต้องลังเลเลย” เนื่องจาก “สามารถป้องกันการเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ 100 %” ส่วน Prof. Griffin ตอบว่า “ควร” และ “เราควรมีความมั่นใจว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ”

9.ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจากทั่วโลก ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ควรเปรียบเทียบวัคซีน ว่าตัวไหนดีกว่ากัน ตราบใดที่วัคซีนนั้น ผ่านการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุข ของแต่ละประเทศแล้ว ก็ดีทุกตัว ไม่ควรเลือกว่าจะฉีดวัคซีนตัวไหน เพราะ “วัคซีนที่ดีที่สุด” ก็คือ “วัคซีนที่คุณได้ฉีด” เพราะมันจะทำให้คุณ "รอดจากโควิด" ได้

10.ดังนั้นสรุปของสรุปก็คือ ขอให้มีความมั่นใจว่าวัคซีนที่ไทยใช้ ทั้ง Sinovac และรอบแรกของการฉีดผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยง Astra-Zeneca นั้นปลอดภัย ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข

ผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องศึกษากันต่อว่า มาจากวัคซีนหรือไม่ แต่มีในอัตราส่วนที่น้อยมากๆ ประมาณหนึ่งในล้าน น้อยกว่าโอกาสเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ จมน้ำ หรือแม้แต่การติดโควิดเยอะมาก และก็เกิดกับทุกยี่ห้อ

อย่างไรก็ตามล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผย เอกสารเปรียบเทียบผลการศึกษาด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่มีขายในปัจจุบัน

เอกสารเปรียบเทียบผลการศึกษาด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่มีขายในปัจจุบัน

ซึ่งมีวัคซีนเพิ่มเติมอีก 3 ยี่ห้อคือ โนวาแวค จอห์นสัน กัมมาเลยา ด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดปม : วัคซีนโควิด-19

"ไฟเซอร์" ยืนยันยังไม่ได้นำวัคซีนเข้าไทย - ส่งมอบผ่านรัฐบาลเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง