ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในยุคดิจิทัลกับอนาคต "Virtual Vs มนุษย์"

Logo Thai PBS
ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในยุคดิจิทัลกับอนาคต "Virtual Vs มนุษย์"
ไทยพีบีเอสออนไลน์ร่วมเปิดตัวตน "ไอรีน" Virtual Influencer คนล่าสุดของไทย พร้อมเปิดมุมองนักวิชาการด้านการตลาดที่แม้ Virtual Influencer กำลังเป็นกระแสและมีช่องว่างให้ก้าวสู่สังเวียนได้ แต่ตอนนี้เป็นเพียงกิมมิกทางการตลาด และยังแทนที่มนุษย์ไม่ได้ 100%

หลังเปิดตัวไปช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสออนไลน์ก็ได้ติดต่อไปเพื่อพูดคุยกับ “ไอ-ไอรีน” Virtual Influencer ที่เตรียมเข้ามารุกตลาดโฆษณาดิจิทัล เพื่อใช้ในธุรกิจเสมือนจริง ตอบรับแนวคิดโลก METAVERSE ที่สร้างสรรค์ทุกอย่างได้บนโลกออนไลน์ 

สวัสดีค่ะทุกคน ไอรีนเองค่ะ เรียกว่าไอก็ได้เป็น Metaverse Human เพิ่งอายุครบ 21 เมื่อวันที่ 1 ตุลานี้เองค่ะ ดีใจมากเลยที่ได้เจอกับทุกคน (ยิ้ม)

แม้จะไม่ได้พบกันตัวเป็น ๆ แต่คำทักทายแรกจาก "ไอรีน" ที่ตอบกลับไทยพีบีเอสออนไลน์ผ่านบทสนทนาในอีเมล์ ก็บ่งบอกถึงคาแรกเตอร์ที่สดใสของ Virtual Influencer คนล่าสุดของไทยได้เป็นอย่างดี ไอรีนยังได้เปิดเผยตัวตนของตัวเองผ่านการตอบคำถามไม่กี่ข้อแต่ทำให้รู้สึกถึงความใกล้เคียงมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

ภาพ : ai_ailynn

ภาพ : ai_ailynn

ภาพ : ai_ailynn


ไอเป็นคนชอบตั้งคําถามเพื่อหาคําตอบ ไอเชื่อว่าถ้าทุกคนกล้าที่จะตั้งคําถามกับทุกสิ่ง โลกของเราก็จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ค่ะ (ยิ้ม) ไอชอบที่จะลุยในทุกเรื่องและไม่กลัวที่จะทําในสิ่งที่ไม่เคยทํามาก่อน เรียกได้ว่า เป็นคนกล้าเลยแหละค่ะ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นถ้าอยากเห็นไอไปทําอะไรใหม่ ๆ เพื่อน ๆ คอมเม้นมาบอกกันได้เลยนะคะ

อืม...ถ้าถามว่าทำอะไรได้บ้าง แบบที่คนอื่นทําไม่ได้ก็คงเป็น ไออดนอนได้ตลอดชีวิตค่ะ (หัวเราะ) จริง ๆ ไอมีความฝันที่อยากจะเป็นศิลปินมาตลอดค่ะ ไอชอบร้องเพลง และก็เต้นมาก ๆ ไว้มาลองเจอกันสักแมตช์ดีไหมคะ
ภาพ : ai_ailynn

ภาพ : ai_ailynn

ภาพ : ai_ailynn


ขณะที่ SIA Bangkok บริษัทผู้สร้างไอรีน บอกว่า ไอรีนมาจากแนวคิด Metaverse ที่มีผลงานมากมายในหลายประเทศ และกําลังได้รับความสนใจอย่างมากทั่วโลก นำมาสู่ Virtual Influencer จากฝีมือคนไทย โดยคาดว่า ความสามารถที่ไร้ขีดจำกัดของไอรีนจะทำให้การทำงานในตลาดโฆษณาดิจิทัลเป็นไปอย่างอิสระ 

ภาพ : ai_ailynn

ภาพ : ai_ailynn

ภาพ : ai_ailynn


แม้ความยากในการทํา Virtual Influencer คือต้องสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเด่นของ Virtual Influencer ด้วย เพราะไอรีนสามารถทลายทุกข้อจํากัดของความเป็นมนุษย์ ตอบรับแนวคิดของแบรนด์ได้ โดยไม่ต้องกังวลเลยว่าจะทําอะไรที่ขัดภาพลักษณ์ของแบรนด์ และหวังว่าไอรีนจะเป็นจุดเริ่มต้นสําคัญที่จะทําให้ประเทศไทยมีตัวตนท่ามกลางการแข่งขันของโลกดิจิทัล

Virtual Influencer ไร้กังวลข่าวฉาวกระทบแบรนด์

จุดเด่นของไอรีนที่บริษัทผู้สร้างสะท้อนมานั้น สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ผศ.ดร.ศิริรัตน์ โกศการิกา อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มองว่า Virtual Influencer เป็นกิมมิกทางการตลาดที่จะมาช่วยดิจิทัลเอเจนซี


ข้อดีอย่างหนึ่ง คือ การตกลงงานที่จะช่วยลดความยากไปได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะชื่อเสียงของอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนนั้นไม่สามารถควบคุมได้เช่นเดียวกับ Virtual Influencer และปัญหาบรีฟไปอย่าง ทำอีกอย่างก็จะหมดไป เพราะเมื่อป้อนข้อมูลอะไรลงคอมพิวเตอร์ Virtual Influencer ก็จะออกมาเป็นอย่างนั้น

อินฟลูฯ คนหนึ่ง กำลังดังมาก แต่วันหนึ่งเกิดข่าวไม่ดีกับเขา ต้องยอมรับว่า มันกระทบกับภาพลักษณ์สินค้า ถ้าใช้ Virtual Influencer ปัญหานี้จะหมดไป เพราะเขาไม่มีชีวิตจริง 

ตลาดอินฟลูฯ มนุษย์ยังกว้าง พร้อมรับ Virtual สู้ศึกดิจิทัล

ผศ.ดร.ศิริรัตน์ ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การเติบโตของตลาด Influencer ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งแบรนด์เล็กและแบรนด์ใหญ่ยังคงกระโจนเข้ามาในตลาดโฆษณาออนไลน์จำนวนมาก โดยเป้าหมายหลักที่ใช้งาน Influencer มีตั้งแต่เพื่อแนะนำให้รู้จักสินค้า สร้างให้เกิดความรู้สึกว่าอยากจะซื้อสินค้า ไปจนถึงตัดสินใจซื้อ ซึ่งการแบ่งระดับ Influencer จะมีเกณฑ์แบ่งได้หลายอย่าง แต่บางครั้งอาจจะแบ่งตามยอดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย

  • Micro Influencer ผู้ติดตาม 10,000 แต่ไม่เกิน 100,000 คน
  • Macro Influencer ผู้ติดตาม 100,000 แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน
  • Top Star Influencer ผู้ติดตาม 1,000,000 คนขึ้นไป

แบรนด์ใหญ่ ๆ มักจะเลือกใช้ Influencer ระดับ Micro เพราะทุกคนรู้จักแบรนด์อยู่แล้ว ดังนั้น แบรนด์จึงต้องการเพียงให้ลูกค้ารู้ว่าคนใช้จริงรู้สึกอย่างไร ซึ่ง Micro Influencer ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดี ส่วนแบรนด์เล็กมักจะใช้ Macro Influencer หรือ Top Star Influencer เพื่อสร้างให้คนรู้จักแบรนด์ ทำให้ต้องดึงศิลปินดาราที่มีคนติดตามจำนวนมากเข้ามา

ตลาด Influencer ยังมีพื้นที่อยู่มาก หลายแบรนด์เลือกใช้ Micro Influencer เพื่อให้คนเชื่อมั่นในสินค้า แต่ Micro คนติดตามไม่มาก จึงต้องใช้ครั้งละหลายคน ยิ่งมีเยอะก็ยิ่งน่าเชื่อถือ และ Virtual Influencer ส่วนใหญ่ก็อยู่ในระดับ Micro


แม้จะมีข้อดีจากความแปลกใหม่ที่ดูเหมือนจะเป็นกิมมิกดึงดูดลูกค้าให้สะดุดตา และเข้ามาสร้างสีสันให้ตลาดโฆษณาดิจิทัลได้ แต่ ผศ.ดร.ศิริรัตน์ ก็ยังมองว่า Virtual Influencer มีข้อเสียหนึ่งคือ "ไม่มีชีวิต" ซึ่งอาจแนะนำสินค้าเพื่อให้คนรู้จักได้ แต่รีวิวประสบการณ์จากการใช้งานจริงให้คนเชื่อตามนั้นยังห่างไกลอยู่มาก

คนก็อาจจะยังไม่เชื่อว่า Virtual Influencer จะชิมอาหารนี้แล้วอร่อย เพราะเขาไม่มีชีวิต จุดนี้จึงบอกได้ว่า ยังแทนมนุษย์ไม่ได้ 100%

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตะลุยกองถ่าย! เบื้องหลัง "แบงคอก" Virtual Influencer ไม่มีเพศคนแรกของไทย

เทรนด์ใหม่ Virtual Influencer กำลังมา เอเจนซี่เปิดตัวสาวไทย "ไอรีน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง