นักวิจัยชี้ "โอมิครอน" กลายพันธุ์อาจมีต้นตอจากเชื้อหวัด

ต่างประเทศ
4 ธ.ค. 64
13:26
2,242
Logo Thai PBS
 นักวิจัยชี้ "โอมิครอน" กลายพันธุ์อาจมีต้นตอจากเชื้อหวัด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยสหรัฐฯ ชี้การกลายพันธุ์ของ "โอมิครอน" ส่วนหนึ่งอาจมีที่มาจากโรคหวัด ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจช่วยป้องกันจากโควิด-19 ได้หลายสายพันธุ์

วันนี้ (4 ธ.ค.2564) สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า สหรัฐอเมริกาพบผู้ติดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เพิ่มอีก 6 รัฐ ทั้งนิวเจอร์ซีย์ แมริแลนด์ มิสซูรี เนแบรสกา เพนซิลเวเนีย และยูทาห์ หลังจากประกาศพบเชื้อครั้งแรกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ เปรียบการแพร่ระบาดของโอมิครอนว่า ลุกลามรวดเร็วเหมือนไฟป่า แต่ประชาชนยังไม่จำเป็นต้องวิตก เพราะขณะที่โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ยังคงจัดเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวลมากกว่า โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่ชาวอเมริกันเตรียมเฉลิมฉลองเทศกาลปลายปี ซึ่งจะมีการพบปะรวมตัวกันของคนจำนวนมาก

ด้านแอนโทนี เฟาชี หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มจำนวนแอนติบอดี ชนิดลบล้างฤทธิ์ในร่างกายได้ ซึ่งเป็นไปได้มากว่าจะช่วยปกป้องร่างกายจากโควิด-19 ได้หลากหลายสายพันธุ์

วิจัยอังกฤษชี้ mRNA ฉีดกระตุ้นภูมิได้ผลที่สุด

งานวิจัยของอังกฤษ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ระบุว่า วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด เมื่อใช้ฉีดเป็นเข็มที่ 3 ตามหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นเวลาประมาณ 10-12 สัปดาห์ ไม่ว่าวัคซีน 2 เข็มแรกที่ฉีดจะเป็นของไฟเซอร์หรือของแอสตราเซเนกาทั้ง 2 เข็มก็ตาม

แต่งานวิจัยชิ้นนี้ จัดทำขึ้นตั้งแต่ก่อนพบการระบาดของโอมิครอน ทำให้นักวิทยาศาสตร์อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับการรับมือไวรัสสายพันธุ์ใหม่

การระบาดของโอมิครอน ทำให้หลายประเทศเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อรับมือไวรัสกลายพันธุ์ เช่นเดียวกับแอฟริกาใต้ ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจัดกิจกรรมฉีดวัคซีนตลอดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 3-10 ธ.ค.นี้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีน หลังจากอัตราการติดเชื้อบางพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 300% และปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่าวันละ 10,000 คน ตั้งแต่พบการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน

 

ขณะที่มีงานวิจัยชี้ว่า การกลายพันธุ์ของโอมิครอน ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการรับเอาสารพันธุกรรมของไวรัสตัวอื่นเข้ามาด้วย ซึ่งอาจมาจากโรคหวัดที่เป็นกันโดยทั่วไป โดยการกลายพันธุ์ดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นในเซลล์ของมนุษย์ที่ติดหวัดและโควิด-19 พร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นที่มาของลำดับพันธุกรรม โดยไม่เคยปรากฎในเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ มาก่อน แต่มีในไวรัสอื่นๆ หลายตัว เช่น ไวรัสที่ก่อโรคหวัด และยังพบได้ในจีโนมของมนุษย์ด้วย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจส่งผลให้โอมิครอนหลบเลี่ยงกลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดีขึ้น เนื่องจากมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับพันธุกรรมของมนุษย์มากขึ้น และอาจส่งผลให้แพร่กระจายได้ง่ายกว่าเดิม โดยทำให้เกิดอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หรือผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการ

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยนี้จัดทำโดยคณะนักวิจัยจากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล และตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์รวบรวมงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ

 

อ่านข่าวอื่นๆ

อนามัยโลกแนะตั้งรับ "โอมิครอน" แต่ไม่ควรตระหนก

คนแรก! "มาเลเซีย" พบ นศ.กลับจากแอฟริกาใต้ติดโอมิครอน

สหรัฐฯ ไม่ปิดเมืองรับมือโอมิครอน - นิวยอร์กหวั่นพบติดเชื้อเพิ่ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง