เหตุผลเลิกจ้าง "ผู้พิทักษ์ป่า" 1,731 คน ยอมหั่นเงินเดือน 25%

สิ่งแวดล้อม
14 ม.ค. 65
14:40
15,984
Logo Thai PBS
เหตุผลเลิกจ้าง "ผู้พิทักษ์ป่า" 1,731 คน ยอมหั่นเงินเดือน 25%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานฯ ยอมรับเลิกจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 1,731 คนหลังงบปี 65 ถูกตัด บางส่วนยอมหั่นเงินเดือนลง 25 % แต่ยังมีขวัญกำลังใจอยากคุ้มครองป่า ห่วงสถิติตัดไม้-ลอบล่าสัตว์เพิ่ม สั่งสแกนพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ พร้อมประคับประคองใช้เงินรายได้ช่วยปีละ 200 ล้าน

กรณีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาการจัดสรรงบประมาณจ้างงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งจะได้รับผลกระทบต่อพนักงานจ้างเหมาของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ และอาจถูกเลิกจ้างสูงถึง 50 %

วันนี้ (14 ม.ค.2565) นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยจากปัญหาดังกล่าว กรมอุทยานฯ ให้แต่ละอุทยานฯ ไปพิจารณา 2 ทางเลือกคือปรับคนออก และปรับลดเงินลง แต่ส่วนใหญ่ 80 % จะใช้วิธีลดเงินเดือนลง ซึ่งจากการไปตรวจเยี่ยมยอมรับว่าสะเทือนใจพอสมควร แต่ขวัญกำลังใจทุกคนยังพร้อมทำงาน

ไม่อยากให้ตกงานทันที เพราะคนกลุ่มนี้ก็มีครอบครัวที่ต้องได้รับผลกระทบจากโควิดเท่ากับซ้ำเติม จึงเจรจาขอปรับลดเงินเดือนลง เพื่อประคับประคองโดยปรับลดเงินเดือนลง แต่ปีนี้บางคนที่อยู่ต้องยอมลดเงินเดือนลงจากเฉลี่ย 9,000 บาท เหลือเพียงเดือนละ 7,500 บาท

ปี 65 ถูกหั่นงบคนหาย 33 % กระทบเลิกจ้าง 1,731

ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ภาพรวมปีงบประมาณ 2565 กรมอุทยานฯ ถูกปรับลดงบภาพรวมลงไปเฉลี่ย 900 ล้านบาท ซึ่งในช่วงย้อนหลัง 5 ปีมีการปรับลดงบลงมาต่อเนื่อง และมีการปรับลดงบมาต่อเนื่อง ปรับลดมาทุกปี แต่หนักสุดคือปี 2565

ถ้าเทียบปี 64 อัตราจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า 5,163 คน ล่าสุดถูกตัดเหลือ 3,432 คน หายไป 1,731 คนคิดเป็นอัตรา 33 % แต่ไม่ได้ลดทั้งหมด กรมฯ นำเงินรายได้ค่าธรรมเนียมมาสนับสนุนปีละกว่า 200 ล้านบาท เหมือนเป็นเงินประคอง ทำให้เจ้าหน้าที่เราถูกให้ออกบางส่วน แต่ถูกส่วนหนึ่งยอมอยู่ด้วยกัน

เมื่อถามว่าถ้าปีหน้ายังถูกปรับลดงบอีก ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ยอมรับว่าหนักใจ เรื่องการคุ้มครองพื้นที่จากกำลังคนที่ลดลง ในอดีตนำเงินรายได้จากค่าธรรมเนียม ไปช่วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่มีรายได้เฉลี่ย 9,000 บาท ทำให้นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ อนุมัติให้ใช้เงินค่าธรรมเนียมนำมาสนับสนุนด้วย และลูกน้องเฉลี่ยปีละ 200 กว่าล้านบาท  

ยอมหั่นเงินเดือน-ขวัญกำลังใจดี

นายดำรัส กล่าวว่า ตอนนี้ให้มีเบี้ยเลี้ยงจากการเดินป่าชั่วโมงละ 50 บาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 2,000 บาท ช่วยประคับประคองดู เงินจำนวนนี้อาจจะไม่เยอะสำหรับคนบางคน แต่เชื่อสำหรับผู้พิทักษ์เป็นเงินจำนวนมาก เงิน 2,000 กว่าบาทเขาดีใจมากๆ

เขายืนยันว่า ถึงแม้จะไม่มีในสิ่งเหล่านี้ ก็ยังทำงานอยู่แล้ว ตรงนี้ทำให้เรารู้สึกถึงจิตใจที่มุ่งมั่นในการทำงาน อยากฝากว่าบุคคลเหล่านี้คือผู้ปิดทองหลังพระ คงไม่มีใครรู้ว่าระหว่างที่หลายคนตามอยู่ในห้างสรรพสินค้า แต่เจ้าหน้าที่ของเราเดินอยู่ในป่ากินนอนในป่าปกป้องทรัพยาของไทย

นายดำรัส กล่าวอีกว่า ในฐานะคนที่เคยอยู่อุทยานมาอย่างน้อย 4 แห่ง ทำงานกับลูกน้องมาตลอด และคุ้นเคย ได้ไปร่วมลาดตระเวนกับเจ้าหน้าที่ได้เห็นชีวิตการทำงาน ความทุ่มเทความยากลำบาก และทำให้รับรู้ถึงชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งที่ผ่านมากรมอุทยานฯ เคยผลักดันอยากให้คนทำงานครบ 5 ปี อยากปรับเป็นพนักงานราชการ เพื่อให้มีสวัสดิการต่างๆ 

ห่วงคนหาย-ลอบตัดไม้ล่าสัตว์คุมเข้มพื้นที่เสี่ยง

ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากมีการปรับลดกำลังคนไปแล้ว ยอมรับว่าเป็นห่วงพื้นที่การลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่ามากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้เตรียมติดตามว่าจะส่งผลกับคดีป่าไม้ สัตว์ป่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ได้กำชับให้สแกนพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติในภาคเหนือ ภาคอีสาน และโซนป่าตะวันตก 

สั่งสแกนให้อุทยานที่มีกลุ่มไม้มีค่า ทั้งอีสาน ภาคเหนือ ตะวันตกที่มีคดีสัตว์ป่าให้ปรับแผนคนเหลือน้อย หากต้องโยกคนในกลุ่มงานบริการท่องเที่ยวต้องให้ไปสับเปลี่ยน และยอมถูกตำหนิงานท่องเที่ยว 

พร้อมกันนี้จะหมั่นลงไปตรวจเยี่ยม พูดคุย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกคนบ่อยๆ เพราะรู้ว่าการปรับลดคนครั้งนี้กระทบต่อขวัญกำลังใจ และทางนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และปลัด ทส.รับทราบเรื่องนี้

ลั่นภารกิจพิทักษ์ป่าสำคัญที่สุด

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิดเข้าใจว่าการเก็บภาษีไม่ตรงตามเป้า การเบิกจ่ายงบประมาณมีความสำคัญต้องมาจัดเรียงความสำคัญ ไม่ได้บอกว่าภารกิจของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ ไม่สำคัญ แต่ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของประเทศ แต่เมื่อได้รับการจัดสรรมาแบบนี้ ต้องบริหารจัดการให้เต็มที่ และดีที่สุดจากงบประมาณที่มีอยู่ เพราะการดูแลป่าไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ แต่ประชาชนในพื้นที่ล้วนแต่มีความรับผิดชอบร่วมกัน การทำงานร่วมกันจะช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของได้

 

ย้อนหลัง 5 ปี ลดงบฯ 5 เท่า

  • ปี 2561 งบฯ 638 ล้านบาท 
  • ปี 2562 งบฯ 663 ล้านบาท
  • ปี 2563 งบฯ 628 ล้านบาท
  • ปี 2564 งบฯ 421 ล้านบาท
  • ปี 2565 งบฯ 121 ล้านบาท

ปี 64 จำนวน 5,163 คน ปี 65 ลดลง 33% ขณะที่พบว่าผู้พิทักษ์ป่า 3,432 คน ถูกลดเงินเดือนจาก 10,000 บาท เหลือ 7,500 บาท

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


ร้องนายกฯ ทบทวนหั่นงบฯ ทส. เลิกจ้าง "ผู้พิทักษ์ป่า" 50%

รวบรายที่ 5 ร่วมฆ่า "เสือโคร่ง" อุทยานฯ ชี้พฤติการณ์พรานอาชีพ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง