ย้อนรอย "ทะเลสีดำ" 45 ปีน้ำมันรั่วในทะเลไทย 235 ครั้ง

สิ่งแวดล้อม
27 ม.ค. 65
12:39
2,479
Logo Thai PBS
ย้อนรอย "ทะเลสีดำ" 45 ปีน้ำมันรั่วในทะเลไทย 235 ครั้ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หวั่นซ้ำรอยผลกระทบ "ทะเลสีดำ" อ่าวพร้าว หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง กรีนพีช ชี้ 45 ปีเคยเกิดเหตุอุบัติภัยน้ำมันรั่วในทะเลไทยมาแล้ว 235 ครั้ง ตั้งแต่ระดับเล็กถึงระดับใหญ่โดย 9 ครั้งมีน้ำมันรั่วมากกว่า 20,000 ลิตร จี้เปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำมันและให้เอกชนรับผิดชอบ

นับเป็นเหตุการณ์แรกของปี 2565 กับอุบัติภัยทางทะเลกรณีท่อน้ำมันดิบ ของบริษัทสตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง รั่วกลางทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อวันที่ 25 ม.ค.65 แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับปัญหาน้ำมั่นรั่วในทะเลไทย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2556 เคยเกิดเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว ของบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอลจำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. รั่วบริเวณทุ่นรับน้ำมัน ส่งผลให้น้ำมันดิบ 50,000 ลิตรหรือ 50 ตัน ไหลลงทะเล จากนั้นเพียง 1 วัน คลื่นได้พัดพาคราบน้ำมันเข้าสู่ บริเวณชายหาดอ่าวพร้าวจนเกิดภาพ "ทะเลสีดำ"

ภาพ: เฟซบุ๊ก patricksarnsamak

ภาพ: เฟซบุ๊ก patricksarnsamak

ภาพ: เฟซบุ๊ก patricksarnsamak

 

ด้วยคราบน้ำมันดิบสีดำที่มีความหนา 20-30 เซนติเมตร ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งบนอ่าวพร้าว ของหมู่เกาะเสม็ด กินระยะทางยาวกว่า 600 เมตรห่างจากฝั่งหาดอ่าวพร้าวไปในทะเลประมาณ 200 เมตร สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ การท่องเที่ยว และต้องใช้เวลาเก็บกู้นานนับเดือน และถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่

บทสรุปผลกระทบครั้งนั้นมีประมงพื้นบ้าน กลุ่มผู้ค้า ผู้ประกอบการ 400 คนได้รับผลกระทบ ยื่นฟ้องต่อศาลจ.ระยอง หลังต่อสู้นาน 2 ปี ศาลปกครองใช้จ่ายชดใช้ชาวบ้าน 203 คน และมีโครงการฟื้นฟู 4 โครงการและติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนาน 2 ปี

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังต้องเก็บข้อมูลผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่สัมผัสคราบน้ำมันดิบจำนวนกว่า 604 คน เพื่อติดตามดูแลผู้สัมผัสสารกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง 2-5 ปี

45 ปีน้ำมั่นรั่วทะเลไทย  235 ครั้ง 

ข้อมูลจากกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า ทะเลไทยซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของไทย ถูกคุกคามมาโดยตลอดจากการรั่วไหลของน้ำมันตามเส้นทางขนส่งน้ำมันกลางทะเล ในบริเวณที่มีการขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน หรือจากการดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอุบัติภัยน้ำมันรั่วครั้งล่าสุดในทะเลไทยที่เกิดขึ้นมากกว่า 235 ครั้งในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา และไม่ใช่ครั้งแรกของอุบัติภัยน้ำมันรั่วของบริษัทสตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) แต่ในปี 2540 เกิดเหตุน้ำมันรั่วระหว่างการขนถ่ายน้ำมันจากเรือ Once สู่สถานีน้ำมันดิบของบริษัททำให้น้ำมันดิบกว่า 160,000 ลิตรรั่วไหลลงทะเล

สอดคล้องกับข้อมูล ศูนย์ข่าว TCIJ  ที่รายงานข้อมูลถึงปี 2556 ระบุว่าสถิติกรมเจ้าท่า ระหว่างปี พ.ศ.2540–2553 พบการรั่วไหลของน้ำมันในปริมาณมาก (20,000 ลิตรขึ้นไป) รวม  9 ครั้ง พบเกิดในทะเลและชายฝั่งท่าเทียบเรือ ส่วนมากพบการรั่วไหล บริเวณท่าเทียบเรือจากอุบัติเหตุระหว่างการขนถ่ายน้ำมัน และจากอุบัติเหตุต่างๆ 

 

เรียกร้องเปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำมันรั่ว

กรีนพีช ระบุว่า อุบัติภัยน้ำมันรั่วครั้งนี้ แม้ว่าทางบริษัท SPRC จะขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนในพื้นที่ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือความชัดเจนของข้อมูลที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน การชี้แจงว่าสามารถหยุดการรั่วไหล และคุมสถานการณ์นั้นยังไม่เพียงพอ บริษัท SPRC ต้องมีภาระรับผิดกับอุบัติภัยที่เกิดขึ้น และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเล ชายฝั่งและชุมชนที่อาจจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เปิดเผยปริมาณน้ำมันดิบทั้งหมดที่รั่วไหล ได้ถูกกำจัด และแพร่กระจายไปยังที่ใดบ้าง เป็นปริมาณเท่าใด เช่น ปริมาณที่ถูกกำจัดโดยการโปรยสารเคมี ปริมาณที่เก็บกู้ได้ ปริมาณที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรั่วไหลในครั้งนี้มีสาเหตุที่แท้จริงจากอะไร เช่น เป็นอุบัติเหตุ อุปกรณ์เสื่อมคุณภาพหรือละเลยที่จะซ่อมบำรุงระบบ

โมเดลชี้คราบน้ำมันเข้าฝั่งมาบตาพุด 30 ม.ค.-เร่งหาสาเหตุท่อรั่ว

ใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันกี่ชนิด-ผลกระทบ

ขณะที่ยังมีคำถามว่าที่ผ่านมาบริษัทมีแผนการจัดการอุบัติภัยหรือไม่ และเคยมีการซักซ้อมหรือไม่ อย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปฏิบัติการ และต้องเปิดเผย และชี้แจงว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามมาตรการลด และขจัดมลพิษจากการรั่วไหลของน้ำมัน ที่ระบุไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ของโครงการ หรือไม่

และสุดท้ายสารเคมีสลายคราบน้ำมันที่ใช้ทั้งหมดมีกี่ชนิด มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ละชนิดมีปริมาณเท่าใด ได้มาจากแหล่งใดบ้าง ขั้นตอนการใช้สารเคมีทั้งหมด ข้อมูลความเป็นพิษและความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้ และผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปูพรมล้อม "เกาะเสม็ด-หาดแม่รำพึง" สกัดคราบน้ำมันรั่วทะเลระยอง

"วราวุธ"งัดกฎหมายเอาผิด-ฟื้นฟูน้ำมันรั่วทะเลห่วงกระทบยาว 3-5 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง