เปิดขุมกำลัง "นิวเคลียร์" รัสเซีย-นาโต

ต่างประเทศ
1 มี.ค. 65
12:37
3,052
Logo Thai PBS
เปิดขุมกำลัง "นิวเคลียร์" รัสเซีย-นาโต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิเคราะห์มองท่าที "ผู้นำรัสเซีย" ที่ประกาศยกระดับเตรียมความพร้อมของกองกำลังป้องปราม ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง อาจเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจหากศึกในยูเครนไม่เป็นไปตามคาด

คำประกาศของ "วลาดิเมียร์ ปูติน" ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่ยกระดับการเตรียมความพร้อมของกองกำลังป้องปราม ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ย้ำชัดให้โลกไม่ลืมอีกครั้งว่ารัสเซียมีอาวุธพลังทำลายล้างสูงเหล่านี้อยู่ในมือ

ปัจจุบันรัสเซียครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก แต่รัสเซียก็ไม่ใช่ชาติเดียวที่มีนิวเคลียร์ ซึ่งข้อมูลจากสมาคมควบคุมอาวุธ Arms Control Association สำรวจล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมี 9 ชาติที่มีหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครอง จำนวนรวมกัน 13,080 หัวรบ และมากกว่า 90% ของทั้งหมดอยู่ในรัสเซียกับสหรัฐฯ

รัสเซียมี 6,000 กว่าหัวรบ ส่วนสหรัฐฯ มี 5,500 หัวรบ ประมาณการว่าในจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ทั้งหมดในโลก มี 9,600 หัวรบที่ประจำการอยู่ตามกองทัพต่างๆ และยังใช้การได้ ส่วนที่เหลือรอการทำลาย

สหรัฐฯ กับรัสเซียวัดฝีมือด้านอาวุธนิวเคลียร์กันมาโดยตลอด การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกของสหรัฐฯ เป็นการทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมะและนางาซากิของญี่ปุ่น เพื่อปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1945 แต่หลังจากนั้นเพียง 4 ปี สหภาพโซเวียตในขณะนั้นก็ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง ตามมาด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศสและจีน

ขณะที่ปัจจุบัน ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ออกมาโต้ท่าทีของปูตินที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์มาขู่ ว่า ปูตินต้องไม่ลืมเหมือนกันว่าพันธมิตรนาโตก็มีอาวุธนิวเคลียร์

หากเทียบดูจำนวนหัวรบนิวเคลียร์เฉพาะในคลังของประเทศสมาชิกนาโต สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รวมกันได้ 6,065 หัวรบ แต่ยังไม่เท่ากับรัสเซีย แม้นาโตจะระบุว่าอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นแกนหลักของยุทธศาสตร์ป้องกันและป้องปรามของนาโตก็ตาม

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางการทหารของแต่ละประเทศยังทำให้ยุทธศาสตร์การติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ต่างกัน อย่างรัสเซียมีโดรนใต้น้ำที่มีศักยภาพบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ได้ โดยสื่อรัสเซียรายงานว่า เรือดำน้ำรัสเซียมีศักยภาพยิงหัวรบนิวเคลียร์ได้ 500 หัวรบ ซึ่งใช้จัดการกับทั้งสหรัฐฯ และนาโตได้อย่างแน่นอน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายความมั่นคงกลับมองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามจิตวิทยา

ขณะที่สมรภูมิในยูเครนที่รัสเซียดูจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าที่คิดไว้หลายเท่าในการเอาชนะ ก็ยิ่งหนุนทฤษฎีที่ว่าปูตินจะต้องเบี่ยงความสนใจไปจากความพ่ายแพ้กลายๆ ครั้งนี้

อ่านข่าวอื่นๆ

ผลเจรจา "รัสเซีย-ยูเครน" ยังไม่ได้ข้อสรุป เตรียมเจรจารอบ 2

สหรัฐฯ ขับ 12 นักการทูตรัสเซียพ้นประเทศ-ขู่คว่ำบาตรหนักขึ้น

จับตาบทบาท "ผู้นำเบลารุส" ในวิกฤตยูเครน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง