“4 ปี กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร” ในความตั้งใจของว่าที่ผู้ว่าฯ 5 คน

การเมือง
16 พ.ค. 65
17:48
817
Logo Thai PBS
“4 ปี กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร” ในความตั้งใจของว่าที่ผู้ว่าฯ 5 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 5 คน ประชันวิสัยทัศน์ บนเวทีของไทยพีบีเอส ในมหกรรม “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65” เน้นแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชัน โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และการออกไปแข่งขันกับประเทศในเอเชีย

วันนี้ (16 พ.ค.2565) ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส เวลา 16.30 น. ไทยพีบีเอส จัดมหกรรม “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65” ด้วยการประชันวิสัยทัศน์ ของผู้สมัครชิงตำแหน่ง "ผู้ว่าฯ กทม.”

มีผู้สมัครผู้ว่าฯ เข้าร่วม 5 คน คือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 4 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครหมายเลข 7 น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครหมายเลข 11

คำถามแรก ถามว่า วันที่ 22 พ.ค.2569 กรุงเทพฯ ตอนนั้น จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? น.ส.รสนา ผู้สมัครหมายเลข 7 กล่าวว่า สโลแกนของดิฉันคือต้องหยุดโกง กรุงเทพฯ เปลี่ยนแน่ หวังว่าใน 4 ปี ข้างหน้าจะเห็นว่า กรุงเทพฯ จะหยุดโกงจริง ๆ และมีทรัพยากรมากพอที่จะจัดสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต ของทุกภาคส่วน

ตั้งเป้าแก้ปัญหาระบบราง พื้นที่ทำกิน

หวังว่าคนเล็กคนน้อยจะมีพื้นที่ในการทำกิน และสามารถยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรี ลดหนี้ของตัวเอง ใน 4 ปี ข้างหน้าเราจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องระบบรางเป็นขนส่งมวลชนมีราคาที่ทุกคนสามารถขึ้นได้ มีเมืองหลวงที่เป็นบ้านสำหรับทุกคน

ใน 4 ปี ข้างหน้าเราจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องบีทีเอสราคา 20 บาท เพราะเราอาจไม่ได้ค่าบีทีเอส 20 บาท ในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ผู้ว่าฯ ที่จะเข้ามาในครั้งนี้ จะต้องเป็นคนต่อสัญญาสัมปทานหรือไม่ต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีการผูกเงื่อนไขหลายอย่าง และเงื่อนไขเหล่านั้น จะทำให้ผู้ว่าฯที่ไม่ได้มุ่งมั่นอาจต่อสัมปทาน เราจะทำเรื่องนี้เพื่อมุ่งไปสู่ทิศทางอนาคต

ดิฉันเองเป็นตัวแทนของประชาชน สิ่งที่จะทำคือขอให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการแก้ปัญหาของ กทม. เพราะ กทม.มีปัญหาหลายอย่างที่ซับซ้อนมาก เราต้องการพลังของชุมชน พลังของภาคประชาสังคม ที่ทำงานช่วยเหลือรัฐมาโดยตลอด ช่วยทำให้กรุงเทพฯ เป็นอย่างที่เราต้องการ

เร่งแก้กติกาข้อบัญญัติ-ระเบียบที่ไม่เป็นธรรม

ด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 กล่าวว่า หลังจาก 4 ปี ตนและ ส.ก.จากพรรคก้าวไกล จะแก้กติกา ข้อบัญญัติ และระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรม ทั้งค่าขยะ ภาษีที่ดินที่คนตัวใหญ่ไม่หลบเลี่ยง ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ยกตัวอย่างภาษีป้าย

เมื่อจัดเก็บรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สวัสดิการต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้น ทั้งสวัสดิการผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิด-เด็กเล็ก โดยอยากเห็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ จะมีนโยบายที่ยกระดับขึ้นไปอีก รวมทั้งไม่มีผู้ว่าฯ คนใหม่แก้กติกากลับไปเหมือนเดิมอีก เพื่อให้กรุงเทพฯ ไม่เผชิญปัญหาเดิม ๆ

หลายคนตั้งคำถามถ้าเกิดความไม่ถูกต้อง ความอยุติธรรมเกิดขึ้น จะอยากเห็นผู้ว่าฯ เป็นพวกเดียวกันกับพวกนั้นหรือ ผมว่าไม่ใช่ เพราะคุณต้องอยากได้ผู้ว่าฯ มาต่อสู้กับความอยุติธรรม

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ไม่อยากให้ผู้ว่าฯ ตอบเพียงงบฯ จำกัด ติดข้อบัญญัติ แต่ไม่เคยใช้สภากรุงเทพมหานครในการแก้ปัญหา กลับใช้เหตุผลเดิม ๆ ตอบประชาชนแทน

ให้สิทธิคนที่หลากหลายเข้ามาร่วมบริหาร

ด้าน น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครหมายเลข 11 กล่าวว่า การจะพยากรณ์ได้ ต้องดูย้อนหลัง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทุกครั้ง นโยบายยังเหมือนเดิม ปัญหาต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข มันต้องอยู่ที่ Mindset ของผู้นำ ที่จะเข้ามาบริหารเมือง

สิ่งที่จะเร่งดำเนินการคือ คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คนที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่าง บริการสาธารณะจะต้องเข้าถึงได้ อีก 4 ปีข้างหน้า ต้องมีนโยบายใหม่ ๆ ปัญหาใหม่ ๆ และค่อยเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ คนต่อไป

กทม.เป็นรัฐราชการเต็มรูปแบบ ข้าราชการทุกคนไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ดังนั้น ต้องให้สิทธิประชาชนทุกสาขาอาชีพ เข้ามากำหนดงบประมาณและนโยบายด้วยตัวเอง

มีตัวแทนคนพิการเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. มีผู้หญิง คนหลากหลายทางเพศเข้ามาในคณะรองผู้ว่าฯ กระจายความเดือดร้อนคนที่อยู่ข้างหลังเอามาเป็นหลัก และอีก 4 ปีข้างหน้า จะไม่เหลือปัญหาของคนเหล่านี้ต่อไป

กทม.ต้องดีขึ้นทั้งการจราจร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 กล่าวว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้าต้องเป็นกรุงเทพฯ ที่ดีขึ้นในทุกด้านทั้งการจราจร สิ่งแวดล้อม และเท่าเทียมกันในทุกเขต การที่จะเป็นแบบนี้ ถ้าคิดแบบเดิม งบฯ แบบเดิม จะเป็นงานรูทีนที่ไม่พัฒนาไปได้เท่านั้น

ผู้ว่าฯที่ชื่อสกลธี จะเป็นผู้ว่าคนแรกที่หาเงินเข้ากทม.แทนทีจะแบมือขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างเดียว

ส่วนวิธีการหาเงินเช่น การจัดการขยะที่เสียเงินปีละ 5-7 พันล้าน ไม่ได้อะไร ให้เอกชนทำได้ ใช้เงินถูกกว่า ใช้ศักยภาพของเมืองท่องเที่ยว เก็บภาษีซิติแท็กซ์ ซึ่งตั้งเป้าเก็บเงินได้ปีละ 3-5 พันล้าน

ดังนั้น 4 ปีจะมีเงิน 3-4 หมื่นล้านลงมาพัฒนา รวมทั้งจะแก้ปัญหาการใช้งบที่กระจุกตัว แทนที่จะกระจายความเจริญไปใน 50 เขต

นายสกลธียังกล่าวถึงอำนาจหน้าที่สมัยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ว่า ไม่ค่อยมีอำนาจ ถ้าเป็นผู้ว่าฯ จะทำทุกอย่างให้เด็ดขาด โดยเฉพาะการทุจริตคอรัปชัน

ตั้งเป้าเดินหน้าแข่งกับต่างชาติ

ขณะที่นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า 4 ปี ข้างหน้าที่กำลังจะหมดวาระ รอยย่นบนหน้าคงเยอะ งานเป็นผู้ว่าฯ กทม.เป็นงานหนัก ต้องมีความรู้ความสามารถ และใน 4 ปีข้างหน้า จะไม่มาพูดปัญหาเดิม 4 ปีข้างหน้า กทม.จะแข่งขันกับโตเกียว กับกรุงโซล กับ สิงคโปร์ 4 ปี ต่อให้มีรอยย่นเต็มหน้า ก็อยากมาให้พร้อมกับรอยยิ้ม ว่า เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้จริง ๆ

โรงเรียน กทม.จะมีคนแย่งกันเข้า หลักสูตรไม่แพ้กับสิงคโปร์ น้ำท่วมจะไม่เกิดขึ้น จะไม่ทำแบบเดิมคิดแบบเดิม ทำแบบที่ต่างประเทศทำสำเร็จแล้วเราก็ทำสำเร็จได้เหมือนกัน และ PM.2.5 หายไปครึ่งหนึ่งหายใจได้เต็มปอด การใช้บริการ กทม.จะได้ใช้บริการโดยไม่ต้องไปเขต โปร่งใส ลดภาระค่าใช้จ่าย

คนเรียกผมว่า The Disruptor นักเปลี่ยนแปลงแบบหักศอก ผู้ว่าฯต้องมีเสน่ห์พอสมควร มีลูกหนัก-เบา ผู้ว่าฯทะเลาะกับใครไม่ได้เลย เพราะคนที่เดือดร้อนคือประชาชน และหากใครคิดคอรัปชันโดนแน่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมรับความหลากหลาย คนทุกกลุ่ม-สภาพแวดล้อม

อะไรหนักใจที่สุด? ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.

แนะพัฒนา "คนจนเมือง" มีที่อยู่อาศัย-มีงานทำ-คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ระบุต้องปลดล็อกตัวเอง ไม่ต้องทำเองทุกอย่าง ประสานทุกทางให้ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง