จับตา"การเมือง"กับ"กองทัพ"กรณีแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม

8 ก.ย. 55
14:29
26
Logo Thai PBS
จับตา"การเมือง"กับ"กองทัพ"กรณีแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม

การจัดทำบัญชีปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลประจำปีนี้ ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ประเด็นการฟ้องศาลปกครองระหว่าง พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ กับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต หลังการลงนามคำสั่งช่วยราชการ ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งนับเป็นกรณีตัวอย่างในกองทัพที่จะใช้กฎหมายพิสูจน์ความชอบธรรม แม้ว่าจะส่งผลให้กองทัพถูกจับตามองถึงภาพลักษณ์และความเป็นเอกภาพ

<"">
<"">

การประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหาร ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมในปีนี้ (2555) แม้จะผ่านไปด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะการหารือที่ลงตัวในตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ที่คาดว่ามีการเสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก แต่ก็ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายอย่างรัดกุม หลังเกิดกรณี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ลงนามคำสั่งช่วยราชการ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม จนนำไปสู่การยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้พิจารณาว่าเป็นคำสั่งที่ชอบธรรมหรือไม่

ล่าสุดมีรายงานว่า พล.อ.อ.สุกำพล ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษ เพื่อเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่า จะมีการหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และ พล.อ.อ.สุกำพล ยังสั่งการให้กรมพระธรรมนูญ เตรียมเอกสารทางกฎหมายเพื่อใช้ยืนยันความถูกต้องในการลงนามคำสั่งมีการวิเคราะห์จากอดีตนายทหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เป็นปัญหาระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพลและ พล.อ.เสถียรเท่านั้น แต่สะท้อนถึงการแข่งขันที่มากขึ้นระหว่างเพื่อนเตรียมทหารด้วยกันเองในการปรับย้าย และมีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รวมถึมีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

ขณะที่บทบาทของผู้บัญชาการเหล่าทัพ อาจไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีต่อปัญหาระหว่าง พล.อ.อ.เอกสุกำพลกับ พล.อ.เสถียรมากนัก เพราะนอกจากไม่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ยังต้องดูแลการจัดทำบัญชีปรับย้ายภายในเหล่าทัพให้ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องหารือร่วมกันให้ลงตัว กรณีเสนอรายชื่อข้ามจากเหล่าทัพไปยังส่วนอื่นๆ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ย้ำว่า ในวันนี้ไม่มีการแบ่งกลุ่มในกองทัพและการปรับย้ายก็ขึ้นกับหลายปัจจัยทั้งโอกาสวาสนา และฝีมือ

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลต่อกองทัพและสะท้อนถึงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร คงต้องจับตามองอนาคตของกองทัพในช่วงส่งต่อการบังคับบัญชาหลังสิ้นเดือนนี้ต่อไป และแม้ว่าการปรับย้ายในปัจจุบันจะยึดตามกรอบกฎหมายมากขึ้น เพราะมี พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมปี 2551เป็นเกราะป้องกันการล้วงลูกจากผู้มีอำนาจฝ่ายต่างๆ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 เกิดแรงกระเพื่อมภายในกองทัพ ทั้งความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน และผู้ที่ได้รับผลกระทบให้พ้นจากเส้นทางเติบโตทางราชการ รอยร้าวและผลพวงจากการเมือง จึงอาจจะย้อนกลับมากระทบกองทัพให้เกิดความสั่นคลอนต่อความเป็นเอกภาพ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง