คปร.ชงปฏิรูปการศึกษาให้พรรคการเมือง จี้รัฐต้องเลิกผูกขาด-ควบคุม หนุนชุมชนจัดการ

สังคม
22 พ.ค. 54
16:08
3
Logo Thai PBS
คปร.ชงปฏิรูปการศึกษาให้พรรคการเมือง  จี้รัฐต้องเลิกผูกขาด-ควบคุม หนุนชุมชนจัดการ

คปร.เสนอปฏิรูปการศึกษา ไม่เว้นแม้คณะสงฆ์ จับตานโยบายปฏิรูปศาสนธรรมและจิตวิญญาณสู่การกระจายอำนาจ

 
            พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ  ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ชุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีจะประกาศลาออกยกชุดหลังจากใช้ระยะเวลาศึกษาและทำงานกว่า  10 เดือนเต็ม ได้เป็นข้อเสนอที่ต้องการให้พรรคการเมืองที่ประกาศตัวว่าเป็นความหวังของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้นำไปดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะที่มาที่ไปของการกลั่นกรองการปฏิรูปการศึกษาออกมาอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมว่า คปร.ได้มีความคิดร่วมกันว่าจะต้องทำให้การศึกษาไม่ใช่หมายถึงการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะเมื่อเกิดการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้วความคิดก็จะมาเอง เราพยายามส่งเสริมให้พ่อแม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูกและส่งเสริมให้ครูได้เข้ามาเป็นส่วนร่วมในการเรียนรู้ของนักเรียนมากขึ้นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคนในสังคมจะต้องมีส่วนในการช่วยสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ เช่นพิพิธภัณฑ์ห้องสมุดหรือนวัตกรรมใหม่ๆ อันนี้ก็จะเป็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาหรือการพัฒนาคุณภาพของการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตมากขึ้น
            พระไพศาล ยังเห็นว่า สิ่งที่พรรคการเมืองควรจะนำไปปฏิบัติอีกเรื่องคือการปฏิรูปศาสนธรรมและจิตวิญญาน โดยเสนอให้มีการปฏิรูปการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างจริงจังให้มีการกระจายอำนาจเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และต้องลงทุนเอาใจใส่กับกับเรื่องการศึกษาของพระสงฆ์และสามเณรเพื่อให้ได้พระและเณรที่รู้ในทางธรรมและทางโลกเพื่อที่จะเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญานของประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นได้ ซึ่งเห็นว่าในส่วนของการปกครองขององค์กรศาสนานั้นไม่ควรรวมศูนย์ ควรกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นระดับต่างๆ เพื่อให้บุคลากรในองค์กรศาสนาทุกระดับทุกประเภทมีการศึกษาที่ดี และรัฐต้องเลิกผูกขาดการเป็นผู้ควบคุมและตีความรู้ทั้งหลักธรรมทางศาสนา และความจริงทางโลก
            “เราต้องฟื้นฟูชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งหมายถึงความเข้มแข็งของสายสัมพันธ์ภายในของกลุ่มคนที่รวมท้องถิ่นเดียวกัน ในโลกปัจจุบัน สายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งไม่ได้วางอยู่บนระบบเครือญาติ การทำอาชีพเดียวกัน หรือการเผชิญโลกภายนอกร่วมกันอีกแล้ว หากแต่วางอยู่บนการทำกิจกรรมร่วมกันและการจัดการและใช้ประโยชน์จากสาธารณสมบัติร่วมกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น เพราะชุมชนที่เข้มแข็งมีพลังทางศีลธรรมในการกำกับพฤติกรรมผู้คน และสายสัมพันธ์ในชุมชนจะทำให้ผู้คนไม่รู้สึกแปลกแยกจากกันด้วย”พระไพศาลกล่าว
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง