กระแสหนังต่อต้านญี่ปุ่นในจีน

ศิลปะ-บันเทิง
21 มี.ค. 56
13:58
1,240
Logo Thai PBS
กระแสหนังต่อต้านญี่ปุ่นในจีน

จีนยังคงใช้สื่อภาพยนตร์เป็นโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ตัวร้ายให้ญี่ปุ่น หวังใช้ความเกลียดชังเป็นเครื่องมือสร้างค่านิยมในชาติ

การล้างแค้นให้กับครูมวยจีนที่ถูกลอบสังหารระหว่างประลองยุทธกับนักคาราเต้ญี่ปุ่น ด้วยการล้มนักสู้ญี่ปุ่นนับสิบด้วยตัวคนเดียว คือฉากอันตื่นตาใน Ip Man หนังกำลังภายในปี 2008 ของเจินจื่อตัน ที่ทำให้ตำนานของ หยิปหมั่น ปรมาจารย์มวยหย่งชุนถูกนำมาสร้างต่ออีกหลายเวอร์ชั่น หากแต่วีรกรรมการใช้มวยจีนล้มนักสู้ชาวญี่ปุ่น เคยมีให้เห็นตั้งแต่สมัยที่ บรูซ ลี แสดงลีลาโค่นศิษย์นักคาราเต้ญี่ปุ่นทั้งสำนักใน Fist of Fury หนังดังปี 1972 แสดงถึงความนิยมของผู้สร้างภาพยนตร์จีนทุกยุคทุกสมัย ที่ให้ชาวญี่ปุ่นมาสวมบทผู้ร้ายเพื่อชดเชยบาดแผลในอดีตที่ชาวอาทิตย์อุทัยเคยสร้างไว้ในประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ชาติ

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิญี่ปุ่นรุกรานจีน มีประชาชนเสียชีวิตราว 20 ล้านคน เป็นบาดแผลความทรงจำที่ไม่อาจลบเลือนไปง่ายๆ เด็ก ๆ ชาวจีนจะถูกปลูกฝังให้จดจำความเลวร้ายของทหารญี่ปุ่น ทั้งจากหลักสูตรในชั้นประถม จนถึงการทัศนศึกษายังพิพิธภันฑ์ต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่ง เช่นเดียวกับเนื้อหาที่พบได้จากสื่อในประเทศ เมื่อผลสำรวจพบว่าเมื่อปีที่แล้วในเมืองจีนมีการผลิตหนังต่อต้านชาวญี่ปุ่นและรายการทางโทรทัศน์รวมกว่า 200 เรื่อง

จิงดง นักแสดงในหนังต่อต้านญี่ปุ่น เผยว่าหนังแนวนี้เป็นสิ่งคุ้นเคยของชาวจีนมาเนิ่นนาน ตั้งแต่ก่อนปัญหาดินแดนบนหมู่เกาะเตียวหยู หรือ เซ็งกะกุ จะกลับมาปะทุเมื่อปีก่อน ขณะที่ ชู้ต้าเคอะ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยถงฉี มองว่าทุกวันนี้ทางการจีนต้องการใช้ความเกลียดชังญี่ปุ่นเป็นเครื่องมือปลุกกระแสรักชาติ โดยไม่อนุญาตให้หนังผ่านเซนเซอร์หากเรื่องนั้นไม่มีเนื้อหากล่าวร้ายชาวญี่ปุ่น

กระแสเกลียดชังญี่ปุ่นผ่านแผ่นฟิล์ม เป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับ ชีดงผัง สตันท์แมนวัย 26 ปี ผู้รับบทเป็นทหารญี่ปุ่น ตลอด 4 ปีในวงการ เขาต้องเสียชีวิตในชุดทหารญี่ปุ่นเฉลี่ยวันละ 8 ครั้ง โดยสถิติการถูกสังหารสูงสุดคือ 31 ครั้งต่อวัน เจ้าตัวเผยเคล็ดลับความสำเร็จในการรับบทนี้ว่า อยู่ที่การคิดท่าวาระสุดท้ายของทหารญี่ปุ่นให้พบจุดจบที่สะใจคนดูชาวจีนให้มากที่สุด

การเสนอภาพยนตร์ที่มุ่งเน้นแต่ภาพลักษณ์แง่ลบของญี่ปุ่น ทำให้มีหนังทุนต่ำเป็นจำนวนมากในจีน ซึ่งผู้ชมจำนวนไม่น้อยเริ่มไม่พอใจ ที่สื่อตกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเพียงข้ออ้างทางประวัติศาสตร์ โดย ศิลปินดัง อ้าย เว่ยเว่ย และ หลิวเซียวโบ นักเขียนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย มองว่าภาพลักษณ์ของรัฐบาลจีนแย่ลงตั้งแต่เหตุการณ์สังหารนักศึกษาที่จตุรัสเทียนอันเหมิน และเพิ่งกลับมาได้รับความเชื่อถือเมื่อไม่กี่ปีมานี้จากความสำเร็จทางเศษรฐกิจ การสร้างวาทกรรมเกลียดชังชาวญี่ปุ่นในวันนี้ จึงเป็นแผนของรัฐบาลที่พยายามซื้อใจคนในชาติ และภาพลักษณ์ตัวร้ายจากแดนอาทิตย์อุทัย ก็จะยังปรากฏอยู่ในสื่อของจีนต่อไปอีกยาวนาน


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง