ภตค. มีมติตั้ง “ดุสิต” นั่งเก้าอี้ปธ.เครือข่ายฯ เร่งเดินหน้าต่อต้านคอรัปชั่นให้ชัดเจน ติดตามคำสัญญาพรรคการเมือง

การเมือง
30 มิ.ย. 54
10:35
10
Logo Thai PBS
ภตค. มีมติตั้ง “ดุสิต” นั่งเก้าอี้ปธ.เครือข่ายฯ เร่งเดินหน้าต่อต้านคอรัปชั่นให้ชัดเจน ติดตามคำสัญญาพรรคการเมือง

เปิดผลสำรวจ CSI พบสถานการณ์แย่ลงจาก ธ.ค. 2553 ร้อยละ 3.5 เหลือ 3.4 ในมิ.ย.ปีนี้

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย 23 องค์กร จัดประชุมภาคีเครือข่ายต่อต้านครัปชั่น (ภตค.) ครั้งที่ 2/2554 และแถลงผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่น (CSI) ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ โดยมี นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ และดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมแถลง

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ได้ข้อสรุปว่า จะทำเรื่องการต่อต้านคอรัปชั่นให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ต้องการความร่วมมือ พร้อมใจกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มสื่อสารมวลชน ที่ต้องทำให้สื่อเกิดความ “สว่าง” เช่นการให้พื้นที่สื่อ ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการต่อต้านคอรัปชั่น เพราะสื่อมีบทบาทสำคัญในการทำให้ข่าวสารต่างๆ ออกไปในมุมกว้างสู่ประชาชน ให้เกิดความเข้าใจอย่างต่อเนื่องทุกระดับ

“ในกลุ่มของเยาวชน ประชาชนต้องมีการปลูกฝังด้านจิตสำนึก ให้ตระหนักถึงผลร้ายต่อประเทศชาติ ซึ่งต้องทำทั้งระยะกลางและระยะยาวควบคู่กันไป กำลังหาแนวทางให้มีการกระจายแนวความคิดเหล่านี้ไปสู่นักศึกษา และนักเรียน ทั้งนี้ ที่ประชุมมีเป้าหมายเลือกนายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานเครือข่ายภาคี 23 องค์กร”

ขณะที่นายดุสิต กล่าวว่า ภายหลังที่พรรคการเมืองทั้งหลายตอบรับต่อข้าเรียกร้องของภาคีเครือข่าย 23 องค์กรและได้พบว่าการคอรัปชั่นเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารประเทศต่อไปข้าง หน้า รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศชาติต่อไป จะต้องเตรียมบริหารจัดการเรื่องคอรัปชั่นให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“จะติดตามสิ่งที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ ว่าจะดำเนินการจริงหรือไม่ ดำเนินการอย่างไร และจะนำข้อติดตามเหล่านั้นมาแจ้งให้ประชาชนรับทราบ แม้ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนจะยังไม่น่าพอใจมากนัก แต่เชื่อมั่นว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในอนาคต เพราะไม่ได้หวังว่าคอรัปชั่นจะหมดลงในเวลาอันสั้น ทั้งนี้ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคีเครือข่ายฯ และติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยติดตามได้จากผลงานของรัฐบาลใหม่ ที่จะบ่งชี้ให้เห็นว่า ให้ความสำคัญในการลดปัญหาการคอรัปชั่นหรือไม่เพียงใด”

ด้านนางเสาวนีย์ กล่าวถึงผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่น (CSI) ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนปีนี้ว่า ครั้งนี้เป็นดัชนีที่ทำเป็นครั้งที่ 2 โดยสำรวจ 2,133 ตัวอย่างทั่วประเทศ จากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการ ประชาชน ข้าราชการและภาครัฐ ทำการสำรวจ 3 ประเด็น คือ  1. ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น 2.ทัศนคติและจิตสำนึกของคนในสังคมต่อการทุจริตคอรัปชั่น 3.ประสิทธิภาพการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งประกอบไปด้วย การป้องกัน การปราบปรามและการปลูกจิตสำนึกของประชาชนต่อการทุจริตคอรัปชั่น

ด้านความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75 ระบุว่า เดือนมิถุนายนนี้เห็นว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และร้อยละ 70 เห็นว่า ปัญหานี้จะรุนแรงต่อเนื่องไปในปีหน้า อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มที่ดีว่า สัดส่วนผู้ที่เห็นว่าปัญหาคอรัปชั่นเป็นเรื่องไกลตัวไม่เกี่ยวกับตัวเอง โดยตรงมีสัดส่วนลดลงจาก ร้อยละ 31 ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เหลือร้อยละ 16 ในเดือนมิถุนายนนี้

ขณะที่ด้านทัศนคติและจิตสำนึกต่อการทุจริตคอรัปชั่น ประชาชนร้อยละ 61 ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่รับได้ ประชาชนร้อยละ 59 ไม่เห็นด้วยกับการให้สินน้ำใจ (เงินพิเศษ) เล็กๆ น้อยๆ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องไม่เสียหาย

ส่วนด้านประสิทธิภาพการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ประชาชน ร้อยละ 70 พร้อมที่จะแจ้งและรายงานเบาะแสเมื่อมีการทุจริตคอรัปชั่น และร้อยละ 43 เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอรัปชั่น ส่วนร้อยละ 44 เห็นว่ามีประสิทธิภาพปานกลาง

สำหรับความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของประชาชนและองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ได้คะแนนสอบผ่านที่ 5.77 จากคะแนนเต็ม 10 ส่วนความเชื่อมั่นต่อสมาคมภาคธุรกิจ เช่น หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ได้คะแนน 5.67 ด้านความเชื่อมั่นต่อสื่อมวลชนได้คะแนน 5.75 ความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการได้คะแนน 5.40 ในขณะที่ความเชื่อมั่นภาคประชาชนได้คะแนน 5.81

“โดยสรุปคิดว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น แต่คนมีความหวังว่าในอนาคตจะดีขึ้น เนื่องจากเรามีภาคีเครือข่ายที่มีจิตสำนึกของคนที่เห็นการต่อต้าน คอรัปชั่นดีขึ้น และเรื่องการปราบปรามคอรัปชั่นคนก็มั่นใจมากขึ้น ส่วนเรื่องการป้องกันนับว่ายังทรงตัว”

ขณะที่ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอรัปชั่นในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.2 แต่แนวโน้มในอนาคตความรุนแรงอยู่ที่ร้อยละ 2.6 หมายความว่า ประชาชนและทุกภาคส่วนเห็นว่าถ้าไม่มีการทำอะไร คอรัปชั่นจะหนักขึ้น รุนแรง แต่ในมิติสร้างการตระหนักรู้และป้องกันปราบปราม พบว่า ประชาชนมีความหวังมากขึ้น ดังนั้น การตระหนักรู้และการกรอบของการสร้างเครือข่ายและดัชนีในอนาคตมีการปรับตัวดี ขึ้น และจะทำให้มีมุมมองในการป้องกัน ปราบปรามทำได้ดีขึ้น

“หลังจากรัฐบาลใหม่เข้ามา คาดการณ์ว่า เมื่อมีการสำรวจอีกครั้งดัชนีคอรัปชั่นจะดีขึ้นในเชิงของการป้องกัน ปราบปราม สร้างการตระหนักรู้ แม้ปัญหาคอรัปชั่นจะค่อยๆ ขยับลดลงไป แต่ดัชนีเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปรามและขับเคลื่อนเรื่องปัญหาคอรัปชั่นจะดีขึ้น”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง