สภาฯ ตีตก ญัตติขอตั้ง กมธ.ศึกษาปัญหา "อีอีซี"

เศรษฐกิจ
13 ก.ย. 62
13:33
1,901
Logo Thai PBS
สภาฯ ตีตก ญัตติขอตั้ง กมธ.ศึกษาปัญหา "อีอีซี"
สภาผู้แทนราษฎร ลงมติ "ไม่เห็นชอบ" ให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาอีอีซี 231 ต่อ 224 เสียง หลังอภิปรายเดือด รวม 4 ญัตติที่เกี่ยวข้อง "ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล" ยกตัวอย่างปัญหาอีสเทิร์นซีบอร์ด รัฐต้องป้องกันไม่ให้ซ้ำรอย


วันนี้ (13 ก.ย.2562) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติไม่เห็นชอบ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาผลกระทบโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ตามที่มีทั้ง ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเป็นผู้นำเสนอ

โดยมี ส.ส.เข้าประชุม 457 คน ลงเสียงเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. 224 เสียง ไม่เห็นด้วย 231 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง เท่ากับว่า ญัตติ ขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาผลกระทบโครงการอีอีซี เป็นอันตกไป โดยไม่ได้ใช้กลไกของสภาฯ ร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในโครงการอีอีซี ทั้งที่เป็นญัตติที่มี 4 พรรคการเมืองนำเสนอ คือ  พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ 

อภิปรายเข้ม ก่อนลงมติ 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และผลกระทบที่จะตามมาของโครงการอีอีซี ขณะที่ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในผู้ยื่นญัตติ ได้เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาโครงการนี้ เพื่อให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย ​

การตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษา เป็นประโยชน์ ไม่ใช่โทษ ไม่ได้ทำให้โครงการช้าลง ไม่ได้ทำให้ประเทศเสียหาย หากโครงการโปร่งใสจริง หากมีเจตนาดีกับประเทศนี้จริง ผมเชื่อว่า ต่อให้ซูเปอร์กรรมาธิการฯ ก็ทำอะไรไม่ได้ ในขณะที่ประชาชนหลายล้านคน กำลังต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินของตัวเอง อีอีซี กำลังซ้ำเติมปัญหานี้หรือเปล่า ถ้าท่านประธานตอบคำถามนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องมีกรรมาธิการฯ นี้


ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล แม้ยืนยันจะไม่ขัดขวางแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ต้องคำนึงถึงศักยภาพในพื้นที่เป็นหลัก และไม่เพิ่มภาระผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งพบว่าการยกเลิกผังเมือง และให้จัดทำใหม่อย่างเร่งรีบ เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการอีอีซีมากจนเกินไป โดยไม่มีการตรวจสอบ

กฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการอีอีซีมากเกินไป กระทบความน่าเชื่อถือของประเทศ อยากให้ทบทวน สิ่งที่เขาต้องการเห็นในการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ การได้มาตรฐานสากล ไม่ใช่ทำได้เร็วเพราะมีอำนาจมาก และสามารถทำได้ ในขณะที่กฎหมายอื่นไม่ให้ทำ


เช่นเดียวกับนายสมพงษ์ โสภณ ส.ส.ระยอง พรรคพลังประชารัฐ ที่แม้จะสนับสนุนการเกิดขึ้นของโครงการอีอีซี แต่ฝากให้รัฐบาลใช้บทเรียนจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบซ้ำรอย

ฝากถึงรัฐบาล ขอให้คิดวางแผน วางมาตรการที่รอบคอบ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดที่ระยอง มาบตาพุด ขอให้เป็นครู ความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะไม่มีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น 


สำหรับการอภิปรายญัตติที่เกี่ยวข้องกับโครงการอีอีซี เป็นการอภิปรายแบบรวมญัตติ เนื่องจากมีผู้เสนอญัตติที่ใกล้เคียงกัน จำนวน 4 ญัตติ จาก 4 พรรคการเมือง คือ 1) ญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เสนอโดย ส.ส.พรรคประชาชาติ 2) ญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาและตรวจสอบผลกระทบจากการดำเนินโครงการอีอีซี การวางผังเมือง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เสนอโดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

3) ญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาและตรวจสอบผลกระทบจากการดำเนินโครงการอีอีซี การวางผังเมือง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เสนอโดย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และ 4) ญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาผลกระทบโครงอีอีซี และแสวงหาแนวทางป้องกันแก้ไข เสนอโดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เริ่มแล้ว! ญัตติด่วนขอตั้ง กมธ.อีอีซี ชี้ปัญหา-ของบพัฒนาให้สมดุล

"ผังเมือง" เครื่องมือพัฒนาอีอีซี หรือ ผลประโยชน์กลุ่มทุน?

“วิกรม” ไม่ติดใจถูกกล่าวหาผัง EEC เอื้อทุน ย้ำไทยขาดกลุ่มทุนไม่ได้

กลุ่มค้านผังเมืองอีอีซี ขอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา "อีอีซี"

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง