เบื้องหลัง ภารกิจดับไฟป่าภูกระดึง

สิ่งแวดล้อม
19 ก.พ. 63
05:57
1,138
Logo Thai PBS
เบื้องหลัง ภารกิจดับไฟป่าภูกระดึง
เปิดเบื้องหลังภารกิจดับไฟป่าภูกระดึง เจ้าหน้าที่กว่า 130 ชีวิต ปฏิบัติภารกิจตลอด 24 ชม.ทำให้การควบคุมไฟป่าทำได้อย่างรวดเร็ว

นับตั้งแต่วันแรกที่เกิดไฟป่าภูกระดึง (16 ก.พ.2563 ) การปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งของเจ้าหน้าควบคุมไฟป่า และเจ้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การควบคุมไฟทำได้อย่างรวดเร็ว

วันที่ 2 ของการดับไฟป่า (17 ก.พ.2563) เจ้าหน้าที่เพิ่งได้พักผ่อนในช่วงสายของวันหลังไฟที่โหมกระหน่ำ ตลอดทั้งคืนเริ่มสงบบ่ายวันเดียวกันนี้ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย แถลงความสำเร็จการควบคุมไฟป่าแต่ต้องเฝ้าระวังไฟปะทุรอบใหม่ และทางจังหวัดเตรียมประสานกองทัพนำเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่มาลำเลียงรถกระบะ และรถแทรกเตอร์ไปเสริมภารกิจดับไฟ ข่าวนี้ได้สร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่เพราะภารกิจดับไฟป่าวันที่ 3 (18 ก.พ. 63) พวกเขาเริ่มอ่อนล้าแม้กำลังใจยังดี

 

แต่สิ่งที่กังวลตอนนี้คือสภาพรถอีแต๋น ที่ใช้บรรทุกน้ำ ที่ผ่านการใช้งานอย่างหนักมาหลายปีเริ่มชำรุด วิ่งได้ไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยิ่งช่วงไฟป่า รถต้องออกวิ่งส่งน้ำตลอดทั้งวันทั้งคืน เจ้าหน้าที่ทั้งขับไปซ่อมไป บางคันล้อหลุด ระหว่างทางไปดับไฟป่า ส่วนรถกระบะ เพียงคันเดียว ก็ทรุดโทรม ยังไม่มีโอกาสที่จะได้คันใหม่มาใช้งานในภารกิจดับไฟเช่นนี้

 

นายอดิศร เหมทานนท์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าภูกระดึง ระบุว่า นอกจากรถกระบะ รถแทรกเตอร์มีความจำเป็น เพื่อสร้างแนวกันไฟ ควบคุมไฟป่า สองสัปดาห์ก่อนจะเกิดไฟป่าเขาได้ส่งหนังสือถึงป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อขอสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์สำหรับขนย้ายรถแทรกเตอร์ แต่ยังอยู่ระหว่างประสานงานและจัดหา รวมทั้งประสานไปยังหน่วยงานทหาร แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากอาจติดปัญหางบประมาณ และการปฏิบัติงานนอกเหนือจากภารกิจ

 

ท้ายที่สุด อาจต้องถอดชิ้นส่วนรถให้ลูกหาบแบกขึ้นเขา และมาประกอบบนยอดภู เพื่อทันต่อการใช้งานดับไฟป่า ภารกิจดับไฟป่าครั้งนี้ ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กว่า 130 คน มีรถอีแต๋นบรรทุกน้ำ 4 คันรถกระบะ 1 คัน และรถแทรกเตอร์ อีก 3 คัน กำลังคนเพียงพอ แต่รถไม่เพียงพอ

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าภูกระดึง นอนหลับพักผ่อนระหว่างสลับกันทำงานดับไฟป่า สะท้อนความเหนื่อยยากของการดับไฟ เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นเพียงลูกจ้างของกรมอุทยานฯ ค่าตอบแทนไม่สูงมาก แต่หลายคนบอกว่าทำงานนี้ด้วยใจรัก และภาคภูมิใจ

 

พื้นที่ที่อยู่ใกล้จุดเสี่ยงไฟป่าปะทุใหม่ จุดนี้ อยู่ใกล้กับผาเหยียบเมฆ ห่างจากจุดบริการนักท่องเที่ยว 7 กิโลเมตร ถูกสร้างเป็นแคมป์ที่พักชั่วคราวของเจ้าหน้าที่

 

หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าภูกระดึง ตัดสินใจพักค้างแรมในเต้นท์ กับลูกน้อง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ขณะที่ ทุกคนเริ่มอ่อนล้า มีทั้งจิตอาสา และข้าราชการกรมอุทยานฯ สั่งซื้ออาหาร เครื่องดื่ม มาแจกจ่าย ค่ำวันที่ 18 ก.พ. มีนึ่งข้าวเหนียวร้อนๆ และเนื้อวัวสดๆ จะถูกปรุงในเมนูพิเศษ แทนข้าวไข่เจียวเย็นชืด เพื่อให้คนที่เหนื่อยล้าจากการดับไฟ ได้กินอิ่ม กินอร่อย และนอนหลับ พร้อมปฎิบัติหน้าที่ต่อไฟป่าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ถือเป็นไฟป่าที่ควบคุมยาก

 

มีข้อจำกัด ในการเคลื่อนย้ายรถขึ้นมาบนยอดเขา ส่วนกำลังเสริมดับไฟ ก็ต้องเดินเท้าขึ้นเขา ผ่านทางที่ชัน เหนื่อยล้า เพื่อมาดับไฟ แม้จะสามารถควบคุมไฟป่าได้เกือบทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่ยังต้องลาดตระเวน พื้นที่เกิดไฟป่ากว่า 3,400 ไร่ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังจุดที่ไฟมีโอกาสปะทุ ซึ่งสภาพอากาศที่แห้งแล้ง มีลมพัดแรง ทำให้มีโอกาสที่ไฟป่าจะลุกลามได้อีกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง