"วราวุธ" เรียกร้องผู้นำโลกปกป้องและฟื้นฟูทะเลคืน 30%

สิ่งแวดล้อม
8 มิ.ย. 63
14:35
410
Logo Thai PBS
"วราวุธ" เรียกร้องผู้นำโลกปกป้องและฟื้นฟูทะเลคืน 30%
"วราวุธ" เรียกร้องผู้นำทั่วโลกร่วมปกป้องและฟื้นฟูทะเลภายใต้แผน 30x30 ให้ได้ร้อยละ 30 ภายใน 10 ปีข้างหน้า เผยข่าวดีท้องทะเลไทยสมบูรณ์ขึ้นหลังปิด COVID-19 พบสัตว์ทะเลหายากโผล่หลายแห่ง เล็งจัดการท่องเที่ยวแบบ New Normal เพื่อลดภัยคุกคาม

วันนี้ (8 มิ.ย.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เนื่องในวันทะเลโลก ซึ่งตรงกับ 8 มิ.ย.ของทุกปี ทางโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กำหนดภายใต้ธีมการจัดงาน Innovation for a Sustainable Ocean หรือ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของมหาสมุทร” โดยปีนี้เรียกร้องให้ผู้นำแต่ละประเทศออกมาปกป้องมหาสมุทร และกำหนดแผน 30x30 เป็นการปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อยร้อยละ 30 ให้เป็นเขตปกป้องระบบนิเวศทางทะเลที่ปลอดภัยจากการตักตวงประโยชน์ของมนุษย์

สาระสำคัญของแผนนี้คือการป้องกันและการฟื้นฟูทะเลให้ได้ร้อยละ 30 ภายในอีก 10 ปี เพื่อลดผลกระทบทางทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจัง ระหว่างปี 2564-2573  ทั้งการป้องกันและการฟื้นฟูทะเล ให้ได้ร้อยละ 30 ภายในอีก 10 ปี เพื่อลดผลกระทบทางทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจัง 

นายวราวุธ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการคือต้องปกป้องกันสิ่งเสื่อมโทรม หรือถูกทำลายไปต้องได้รับการฟื้นฟูให้กลับมา โดยเฉพาะภัยคุกคามทะเลไทย มีหลายสาเหตุทั้งการทำประมงเกินศักยภาพของทะเล ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย การท่องเที่ยว รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ระบบนิเวศใต้ทะเลกระบี่ฟื้นตัว หลังปิดท่องเที่ยวช่วง COVID-19

 

ทะเลฟื้นหลังปิด COVID-19 

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย พบว่าหลังจากปิดการท่องเที่ยวทางทะเลในช่วงโรค COVID-19 โดยมีมาตรการงดการเดินทาง และปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทุกแห่ง รวมถึงอุทยานแห่งชาติกว่า 140 แห่ง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการได้ฟื้นฟูโดยธรรมชาติ จนทำให้เป็นปีทองของทะเลไทย เจอสัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทย เช่น ฉลามวาฬ วาฬ พะยูน โดยเฉพาะเต่ามะเฟือง เต่าตนุ ซึ่งปีก่อนมีแค่ 12 รัง แต่รอบ 2 เดือนเกิดปรากฎการณ์เต่าวางไข่นับไม่ถ้วน บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ รวมถึงทรัพยากรปะการังที่มีการฟื้นฟูตัวเองหลังจากไม่มีกิจกรรมใดๆ 

หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ทส.ต้องจัดการท่องเที่ยวทางทะเลในรูปแบบ New Normal เช่น ต้องจำกัดนักท่องเที่ยว ใช้ระบบการจองตั๋วล่วงหน้า บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด และสร้างรายได้ชุมชนท้องถิ่นด้วยการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

 

สำรวจสัตว์ทะเลหายาก-วางแนวทุ่นดักขยะลงปากแม่น้ำ

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ทช.ร่วมกับเอกชน นักวิชาการ และชาวบ้าน ในการวางแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยจะใช้นวัตกรรมทางอากาศยานไร้คนขับในการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน โลมา การปลูกและฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรม การใช้ระบบสมุทรศาสตร์ในการติดตามผลกระทบทางทะเล 

สำหรับการนวัตกรรมทุ่นกักลอยน้ำกักขยะ ที่ร่วมกับเอกชนติดตั้งทุ่น 24 จุดใน 13 จังหวัด เช่น ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ปัตตานี ระนอง ภาพรวมสามารถดักขยะได้ถึง 40 ตัน เพื่อนำไปคัดแยก และจัดการอย่างถูกวิธี และปีนี้จะเพิ่มการใช้หุ่นยนต์ต้นแบบเก็บขยะลอยน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบ 

 

เปิดตัวโปรเม-โปรโม "ทูตผู้พิทักษ์ทะเล"

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเปิดตัว "โปรเม" เอรียา และ "โปรโม" โมรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟอาชีพของไทย เป็นทูตผู้พิทักษ์ทะเล (The Sea Saver) เพื่อช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะให้ได้รับการฟื้นฟูดูแลอย่างจริงจัง

ทั้งนี้น.ส.โมรียา กล่าวว่า ช่วงที่ทุกคนไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านหรือท่องเที่ยว จะเห็นว่าธรรม ชาติต่างฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดภายในระยะเวลาไม่นานนัก ทำให้สะท้อนว่ากิจกรรมทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเราแต่กลับส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปริมาณขยะจากการบริโภคของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะด้วยความจำเป็น

แต่เราในฐานะผู้บริโภคจะสามารถทำอะไรเพื่อช่วยลดขยะได้ในฐานะ ทูตผู้พิทักษ์ทะเล จึงได้ปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเน้นเรื่องการใช้ซ้ำให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้

อยากเชิญชวนให้คนไทยและแฟนกอล์ฟทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รอลุ้น 12 มิ.ย.นี้ ทส.เคาะชื่ออุทยานเปิดท่องเที่ยว

ระบบนิเวศใต้ทะเลกระบี่ฟื้นตัว หลังปิดท่องเที่ยวช่วง COVID-19

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง