นักวิเคราะห์ชี้ระเบิดสะบั้นสัมพันธ์ 2 เกาหลี-กดดันเจรจาสหรัฐฯ

ต่างประเทศ
17 มิ.ย. 63
13:27
1,769
Logo Thai PBS
นักวิเคราะห์ชี้ระเบิดสะบั้นสัมพันธ์ 2 เกาหลี-กดดันเจรจาสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์มองว่าการระเบิดอาคารสำนักงานประสานงานร่วมระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ สะท้อนความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นระหว่าง 2 เกาหลี อีกทั้งยังเป็นกลเม็ดทางการเมืองกดดันเกาหลีใต้ให้ผลักดันการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกา

วันนี้ (17 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุการณ์ระเบิดทำลายอาคารสำนักงานประสานงานร่วมระหว่าง 2 เกาหลี มีหลายมุมมองทั้งการแสดงบทบาทของน้องสาวผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ไปจนถึงการสร้างวิกฤตให้เกิดขึ้นเพื่อหวังกดดันเกาหลีใต้ให้ผลักดันการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาที่ชะงักงันมากว่า 1 ปีแล้ว

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คิม โย-จอง น้องสาวของผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ออกมาพูดเป็นนัยว่า อีกไม่นานอาคารสำนักงานประสานงานร่วมเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ไร้ประโยชน์จะหมดสภาพราบเป็นหน้ากลองไป

สถานีโทรทัศน์เคอาร์ทีของทางการเกาหลีเหนือ ประกาศว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเกาหลีเหนือได้ดำเนินการระเบิดทำลายอาคารสำนักงานประสานงานร่วมระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแกซองไปแล้ว โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการตัดขาดการติดต่อประสานงานในทุกช่องทางระหว่างทั้ง 2 ประเทศ จากกรณีที่เกาหลีใต้ปล่อยให้ชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ส่งใบปลิวโจมตีเข้าไปในฝั่งเกาหลีเหนือ

ความสำคัญอาคารประสานงานร่วม 2 เกาหลี

อาคารหลังนี้สำคัญอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 เกาหลี ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 นิคมอุตสาหกรรมแกซอง ซึ่งจ้างงานชาวเกาหลีเหนือหลายหมื่นคนปิดตัวลง จากความตึงเครียดระหว่าง 2 เกาหลีที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ในปี 2561 คิม จอง-อึน และมูน แจ-อิน พลิกหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการกลับมาเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำ 2 เกาหลีอีกครั้ง และนำมาซึ่งการจัดตั้งสำนักงานประสานงานร่วมระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ปีเดียวกัน

โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าประจำการ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกาหลีเหนือตัดโทรศัพท์สายตรงระหว่าง 2 ผู้นำและกองทัพของทั้ง 2 ประเทศ ก่อนที่จะยกระดับความขัดแย้งให้ตึงเครียดมากขึ้นด้วยการระเบิดทำลายอาคารประสานงานร่วมไปเมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.)


สำนักงานประสานงานร่วมระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นอาคารสูง 4 ชั้น สร้างขึ้นด้วยงบประมาณของเกาหลีใต้ บนแผ่นดินของเกาหลีเหนือ ชั้นที่ 2 เป็นสำนักงานของเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ ส่วนชั้น 4 เป็นสำนักงานของเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือและพื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นห้องประชุมร่วม นับเป็นพื้นที่ซึ่งเปิดให้ 2 เกาหลีสื่อสารกันได้อย่างถึงเนื้อถึงตัวและยังเปิดกว้างให้ติดต่อกันได้ตลอดเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ฝั่งละประมาณ 20 คน เปิดทำการวันธรรมดา 5 วัน ส่วนสุดสัปดาห์เจ้าหน้าที่ก็ยังคงพักอยู่ในอาคาร

นักวิเคราะห์มองว่า การระเบิดอาคารหลังนี้ทิ้ง นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นระหว่าง 2 เกาหลี ทำลายความร่วมมือและความปรองดองระหว่างทั้ง 2 ประเทศแล้ว ยังเป็นกลเม็ดทางการเมืองเพื่อกดดันเกาหลีใต้ให้ผลักดันการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างเกาหลีเหนือ กับสหรัฐอเมริกา หลังการหารือชะงักงันไปตั้งแต่การประชุมสุดยอดสหรัฐอเมริกา-เกาหลีเหนือล้มเหลวเมื่อต้นปี 2562 นอกจากนี้ยังเป็นการบ่มเพาะวิกฤตระหว่าง 2 เกาหลี เพื่อสร้างข้อต่อรองของเกาหลีเหนือ ที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อภายในประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

"คิม โย-จอง" เบื้องหลังระเบิดตัดสัมพันธ์

ส่วนผู้ที่อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวครั้งนี้คงหนีไม่พ้น "คิม โย-จอง" น้องสาวของผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ซึ่งมีบทบาทในการเคลื่อนไหวตอบโต้เกาหลีใต้ จากกรณีไม่พอใจที่เกาหลีใต้ปล่อยให้ชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์โปรยใบปลิวเข้าไปในเขตเกาหลีเหนือ

เธอก้าวขึ้นมารับบทนำในการเป็นปรปักษ์กับเกาหลีใต้ เพื่อหวังตีกันไม่ให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้พ่วงเอาสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยโดยตรง คิม โย-จอง เป็นลูกสาวคนสุดท้องของ คิม จอง-อิล อดีตผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ทั้งโย-จอง และจอง-อึน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา ทั้งคู่เติบโตมาด้วยกันและมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นที่สุดในบรรดาพี่น้อง

วัยเด็กของโย-จอง เธอไปศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เหมือนกับคิม จอง-อึน ซึ่งข่าวกรองของเกาหลีใต้เชื่อว่าปัจจุบันเธออายุ 33 ปี ปรากฏตัวต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง เคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่ชายมาตั้งแต่พิธีศพของบิดา เมื่อปี 2554 และก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเป็นตัวแทนเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพยองชาง ในปี 2561 กลายเป็นสมาชิกตระกูลคิมคนแรกที่เดินทางเยือนเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2496 เมื่อสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง

สิ่งที่น่าจับตามองต่อจากนี้คือ เกาหลีเหนือจะเดินหมากกดดันเกาหลีใต้ต่อไปอย่างไร และจะได้อะไรจากวัฏจักรการยั่วยุและการยกระดับความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเช่นนี้หรือไม่ แต่ครั้งนี้ถือว่าเกาหลีเหนือได้ส่งสัญญาณให้ทั้งสหรัฐอเมริการับรู้อย่างอ้อมๆ แล้วว่าจะผัดวันประกันพรุ่งในเรื่องการเจรจากับเกาหลีเหนือต่อไปได้อีกไม่นานนัก หากไม่อยากให้พันธมิตรสำคัญอย่างเกาหลีใต้ต้องเดือดร้อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แตกหัก! เกาหลีเหนือระเบิดสำนักประสานงาน 2 เกาหลี

ระอุ! "เกาหลีเหนือ" ปัดเจรจาเกาหลีใต้ จ่อส่งกำลังประชิดชายแดน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง