ก่อนวิกฤตเตียงเต็ม ! หมอแนะคุมเข้ม กทม.สกัดเชื้อโควิด

สังคม
25 มิ.ย. 64
11:30
1,811
Logo Thai PBS
ก่อนวิกฤตเตียงเต็ม ! หมอแนะคุมเข้ม กทม.สกัดเชื้อโควิด
วิกฤต COVID-19 ป่วยรายวันเพิ่ม 3,000-4,000 คนต่อวัน สวนทางเตียงว่างในโรงพยาบาลกทม.-ปริมณฑลไม่เพียงพอเหลือแค่ 25 เตียง หมอโรงพยาบาลรัฐ วอนเร่งจัดการปัญหาก่อนรับมือไม่ทัน

วันนี้ (25 มิ.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบจำนวนผู้ติดเชื้อวันละประมาณ 3,000-4,000 คน

ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ประกาศงดรับผู้ป่วยฉุกเฉิน และงดรับตรวจคัดกรอง COVID-19 เนื่องจากไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมสถิติผู้ติดเชื้อ COVID-19 ระหว่างวันที่ 21 มิ.ย.-25 มิ.ย.2564 ดังนี้

  • 21 มิ.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 3,175 คน เสียชีวิต 29 คน อาการหนัก 1,436 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 395 คน
  • 22 มิ.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 4,059 คน เสียชีวิต 35 คน อาการหนัก 1,479 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 410 คน
  • 23 มิ.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 3,174  คน เสียชีวิต 51 คน อาการหนัก 1,526 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 433 คน
  • 24 มิ.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 4,108 คน เสียชีวิต 31 คน อาการหนัก 1,564 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 455 คน
  • 25 มิ.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 3,644 คน เสียชีวิต 44 คน อาการหนัก 1,603 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 460 คน 

 

หากพิจารณาเตียงในโรงพยาบาล กรมการแพทย์ รายงานข้อมูลเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบข้อมูลดังนี้

  • ห้องสำหรับผู้ป่วยสีแดง ห้องไอซียูความดันลบ ผู้ป่วยครองเตียง 268 เตียง เตียงว่าง 46 เตียง
  • หอผู้ป่วยวิกฤตที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 689 เตียง ว่าง 68 เตียง
  • ห้องไอซียูรวม ครองเตียง 267 เตียง เตียงว่าง 34 เตียง
  • ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ห้องแยก ครองเตียง 3,529 เตียง ว่าง 527 เตียง
  • ห้องสามัญ ครองเตียง 6,582 เตียงว่าง 1,458 เตียง
  • ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเขียว hospitel ครองเตียง 10,263 เตียงว่าง 3,267 เตียง
  • เตียงสนาม ครองเตียง 2,541 เตียง เตียงว่าง 803 เตียง

อ่านข่าวเพิ่ม กทม.เริ่มวิกฤต! ผู้ป่วยโควิดรอเตียง 3 วัน

ป่วย COVID-19 กว่า 3,000 คนต่อวันเตียงไม่พอ

ด้วยเหตุผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่มากขึ้น สวนทางกับปริมาณเตียงว่าง เพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤติ ทำให้แพทย์จากโรงพยาบาลในกทม. ทั้งโรงพยาบาลรามามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ว่าปัญหาด่วนสุดอันดับ 1 เวลานี้ คือ เตียงเต็ม ไม่สามารถรับคนไข้หนักได้ เตียงสนามก็เต็ม หรือเกือบเต็ม ศูนย์ส่งต่อ 1668 หาเตียงรับผู้ป่วยไม่ได้ คือความเสี่ยงที่ใหญ่มาก

ทุกๆ 1 วันที่ คนไข้ 1 คน เมื่อพบว่าติดเชื้อแล้ว มีโอกาสแพร่โรคให้คนอื่นอีก 6 คน การให้ผู้ป่วยได้รับการส่งตัวเข้าโรงพยาบาล จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ดังนั้น ภารกิจอันดับหนึ่งวันนี้ คือ ตั้งโรงพยาบาลสนามอย่างด่วน ไม่ใช่ตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน มีโรงพยาบาลสนาม หรือ ICU สนาม อย่างน้อยก็ยังระดมบุคลากรทางการแพทย์จากส่วนต่างๆ มาช่วยประทังภาวะฉุกเฉินนี้ และอาจจะผ่องถ่ายผู้ป่วยที่ดีขึ้น ในโรงพยาบาลออกมาที่รพ.สนาม เพื่อในโรงพยาบาลจะได้รับผู้ป่วยที่อาการหนัก

ปัญหาด่วนอันดับ 2 คือ ต้องหยุดเชื้อ ไม่ให้แพร่ต่อคนอื่นอย่างน้อย 14 วัน ถ้าเลือกจะไม่ล็อกดาวน์ เลือกที่ให้ร้านอาหารอยู่รอด เลือกที่ให้ธุรกิจขายอาหาร นวด ไปได้ ก็ต้องมีความเข้มข้นในมาตรการ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง ส่วนการกินอาหารร่วมกันเป็นจุดเสี่ยงที่สุด

 

ดังนั้น คนที่จะนั่งโต๊ะกินอาหารร่วมกัน ควรเป็นคนที่อยู่บ้านเดียวกันเท่านั้น ญาติกันคนละบ้านก็ไม่ควรมานั่งกินอาหารร่วมกัน เพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันมานาน ก็ไม่ควรนั่งกินอาหารร่วมกัน และการหยุดเชื้อที่สำคัญมากที่สุดอีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องไม่นำเข้าคนเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย ไม่ผ่านขั้นตอนมาตรฐาน

เสนอให้เปิดแคมป์ รับแรงงานเข้าเมืองกักตัวตามมาตรฐานอย่างถูกกฏหมาย ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อตัดวงจรอุบาทว์ ที่มีนายหน้าพาคนหนีเข้าเมืองด้วยวงเงิน 5,000-10,000 บาท แต่สร้างความเสียหายให้กับกทม.-ปริมณฑล 5,000-10,000 ล้านบาท

ปัญหาด่วนอันดับ 3 ถึงจะเป็นเรื่องวัคซีน เพราะวัคซีนที่ฉีดมาครึ่งถึง 1 ปี ในทางการแพทย์ถือว่า ข้อมูลยังไม่เพียงพอ ที่รู้แน่คือไม่ป่วยหนัก และไม่เสียชีวิต แต่ยังติดเชื้อและแพร่เชื้อได้

ฉีดอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด ต้องรอผลการศึกษา แต่ที่แน่ๆ ทยอยฉีดให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรอย่างน้อย 1-2 เข็มให้เร็วที่สุด สถานการณ์จะอยู่ในแบบที่รับมือได้

ประเมินคนป่วย-เสียชีวิตเพิ่ม-เสนอล็อกดาวน์

ขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 

คณิตคิดสนุก ระลอกแรก กทม.มีไอซียูโควิดที่ใช้งานจริงได้ 200 เตียง ระลอก 2 ขยายขึ้นมาได้เป็น 300 เตียง ระลอก 3 จนถึงขณะนี้เบ่งมาเกือบเต็มที่แล้วเป็น 500 เตียง ใช้ไปแล้ว 475 จึงเหลือว่าง 25 เตียง

ใน 475 เตียงนี้ เป็นผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ 300 เตียง ใช้ไฮโฟลว์ หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่น 175 เตียงในอีก 10 วันข้างหน้าอัตราเสียชีวิตผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ คือ 50 % จะมีผู้เสียชีวิต 150 คน

ส่วนอีก 150 คนที่เหลือจะย้ายออกจากไอซียูได้หนึ่งในสาม คือ 50 คน จะมีผู้ป่วยใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่นอาการทุเลาออกจากไอซียูโควิดได้ร้อยละ 80 คือ 140 คน จึงเหลือเตียงว่างเป็น 25+150+50+140 = 365 เตียง

หากมีผู้ป่วยใหม่วันละ 1,000 คน รวม 10 วัน คิดเป็น 10,000 คน ผู้ป่วยหม่ทุกๆ 100 คนโรคจะลุกลามจนต้องใช้ไอซียูโควิด 5 คน ดังนั้นจะต้องเตรียม 500 เตียง ดังนั้นเตียงที่ยังขาดอยู่คือ 500-365 = 135 เตียง จะได้จากไหน เราคงเพิ่มได้อีกเพียง 35 เตียง ที่เหลือ 100 เตียงจะต้องไปดึงมาจากผู้ป่วยโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด

ถามว่าเราจะยอมให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไร หรือต้องรออิตาลีเป็นแชมป์ยูโร 2020 ในอีกกว่าสองสัปดาห์ข้างหน้าจึงเริ่มคิดเรื่องนี้ วิกฤตโควิดระลอกสี่ ล็อดาวน์กรุงเทพ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยติด COVID-19 เพิ่ม 3,644 คน เสียชีวิต 44 คน 

สธ.เปิดผลสอบสวน 42 จาก 103 คน เสียชีวิตไม่โยงวัคซีนโควิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง