สธ.เผยปี 64 ไทยจัดหาวัคซีนโควิดได้ 100 ล้านโดส

สังคม
20 ก.ค. 64
15:27
5,543
Logo Thai PBS
สธ.เผยปี 64 ไทยจัดหาวัคซีนโควิดได้ 100 ล้านโดส
"นพ.โอภาส" เผยภาพรวมปี 64 ไทยจะมีวัคซีน COVID-19 ประมาณ 100 ล้านโดส พร้อมกางไทม์ไลน์จัดหาวัคซีน AstraZeneca ระบุเป็นสัญญาจองซื้อระหว่างรัฐ-เอกชน เปิดเผยความลับเสี่ยงผิดสัญญา

วันนี้ (20 ก.ค.2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า วันนี้มีการลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีน mRNA จำนวน 20 ล้านโดส โดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กับบริษัท Pfizer ประเทศไทย

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาจะส่งมอบวัคซีน Pfizer ให้ไทย เบื้องต้น 1.5 ล้านโดส โดยจะเข้ามาในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้

ขณะนี้ประเทศไทยลงนามในสัญญาซื้อวัคซีน กับบริษัท AstraZeneca จำนวน 61 ล้านโดส มีการจัดหาวัคซีนจากบริษัท Sinovac จำนวน 19 ล้านโดส และจัดหาวัคซีนจากบริษัท Pfizer อีก 20 ล้านโดส

ภาพรวมขณะนี้จะมีวัคซีนที่มีการจองซื้อ มีสัญญาส่งมอบกัน ประมาณ 100 ล้านโดสภายในปี 2564

 

นพ.โอภาส เปิดเผยไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีน AstraZeneca ดังนี้

  • 25 มี.ค.2563 ประเทศไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • 22 เม.ย.2563 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบแผน Blueprint เพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของคนไทย
  • 24 ส.ค.2563 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท แอสตราเซเนกา (AZ) ให้ผู้ผลิตในไทย
  • 23 ก.ย.2563 คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนฯ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีน COVID-19 ในเบื้องต้น
  • 23 ต.ค.2563 รมว.สธ.ออกประกาศเรื่องการจัดหาวัคซีนฯ ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน
  • 17 พ.ย.2563 ครม.เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนฯ โดยการจองล่วงหน้า (AZ) 26 ล้านโดส
  • 27 พ.ย.2563 ลงนามในสัญญา 3 ฝ่าย (AstraZeneca Thailand, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, กรมควบคุมโรค)
  • 5 ม.ค.2564 ครม.เห็นชอบให้สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส
  • 20 ม.ค.2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนวัคซีน COVID-19 ของบริษัท AstraZeneca
  • 23 ก.พ.2564 ครม.เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีน จากเดิม 26 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส
  • 2 มี.ค.2564 ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณฯ 35 ล้านโดส
  • 25 มี.ค.2564 ส่งสัญญาที่ลงนามโดยกรมควบคุมโรค ให้บริษัท AstraZeneca Thailand
  • 4 พ.ค.2564 กรมควบคุมโรค ได้รับสัญญาที่ลงนามโดยผู้บริหารบริษัท AstraZeneca Thailand และ AstraZeneca UK Limited
  • 1 มิ.ย.2564 ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.- ธ.ค.2564

นพ.โอภาส กล่าวว่า หลังจากมีการระบาดของโรค COVID-19 ได้ไม่นาน ก็มีกระบวนการจัดหาวัคซีน แต่แม้ในวันที่ลงนามในสัญญา หรือ ครม.เห็นชอบให้จัดซื้อ ก็ยังไม่มีวัคซีนชนิดไหนที่ผ่านการรับรอง หรือวิจัยสำเร็จ เนื่องจาก COVID-19 เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ ที่เพิ่งพบไม่ถึง 1 ปี โดยทั่วไปการพัฒนาหรือผลิตวัคซีนต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี เพราะฉะนั้นเป็นการดำเนินการภายใต้ภาวะฉุกเฉินและเร่งด่วน

 

สำหรับการลงนามในสัญญาการจองและซื้อวัคซีน จำนวน 26 ล้านโดส เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2563 ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีวัคซีน ดังนั้นในสัญญาจึงไม่ได้ระบุชัดเจนถึงจำนวนที่จะส่งมอบในแต่ละเดือน แต่เป็นกรอบในการเจรจาเดือนต่อเดือน และระบุว่า จะเริ่มส่งวัคซีนครั้งแรกในเดือน มิ.ย.2564

เป็นการทำสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชน ในสัญญาระบุว่า ผู้ลงนามในสัญญาต้องไม่เปิดเผยความลับในสัญญา แต่ถ้าจะเปิดเผยสัญญาต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 3 ฝ่ายร่วมกัน ไม่เช่นนั้นถือว่าทำผิดสัญญา

นพ.โอภาสระบุว่า การรักษาความลับในสัญญาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อมีการทำผิดสัญญา ก็จะมีการยกเลิกสัญญา และอาจจะไม่มีการส่งวัคซีนมาให้กับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้เจรจากับบริษัท AstraZeneca ขอให้จัดส่งวัคซีนให้กับประเทศไทย จำนวน 6 ล้านโดส ในเดือน มิ.ย. และจำนวน 10 ล้านโดสในเดือนต่อๆ ไป จนครบ 61 ล้านโดส

จำนวนวัคซีนที่กรมควบคุมโรคได้ขอไป จะต้องมีการเจรจากับบริษัท AstraZeneca Thailand ซึ่งวัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่ เพราะฉะนั้นการผลิตหรือจัดหายังไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่นอนได้ ประกอบกับความต้องการวัคซีนในตลาดมีมาก ดังนั้นการผลิตและสั่งจองจึงต้องมีการเจรจาและส่งมอบเป็นครั้งๆ ไป

เบื้องต้น บริษัท AstraZeneca แจ้งว่า จะสามารถจัดหาวัคซีนให้กับไทย ประมาณเดือนละ 5-6 ล้านโดส ส่วนจะได้มากกว่าหรือน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต

ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนของไทยในเดือนต่อไป จะต้องฉีดได้อย่างน้อย 10 ล้านโดส จึงจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนมาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หลังจากมีการเจรจากับบริษัท Pfizer รวมถึงนำเข้าวัคซีนจากแหล่งต่างๆ เชื่อว่าปริมาณการฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน จะเพียงพอให้ดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้ได้

เผยประสิทธิผลวัคซีน Sinovac ใน 3 จังหวัด

นอกจากนี้ นพ.โอภาส ยังได้นำเสนอตัวอย่างการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในการใช้จริงในประเทศไทย ช่วงการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา สำหรับวัคซีน Sinovac ใน จ.ภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย รวมทั้งภาพรวมของประเทศ ทั้งกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และบุคลากรทางการแพทย์

พบว่า หลังฉีดวัคซีน Sinovac ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ช่วงเดือน พ.ค. ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถลดการติดเชื้อ หลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้ว 2 สัปดาห์ถึงร้อยละ 90

วัคซีน Sinovac ที่นำมาใช้ มีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ค่อนข้างดี จากการใช้จริงในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในไทยคืออัลฟา

ส่วนการระบาดที่ จ.สมุทรสาคร ในเดือน เม.ย.พบว่า วัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพป้องกันร้อยละ 90 เช่นกัน

ต่อมาในเดือน มิ.ย.เริ่มมีการระบาดในบุคลากรสาธารณสุขที่ จ.เชียงราย จากการทดสอบติดตามประสิทธิผลของวัคซีน พบว่า มีการป้องกันบุคลากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม อยู่ที่ร้อยละ 82 ซึ่งจะเริ่มเห็นว่า ประสิทธิภาพลดลง แต่ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ขณะที่การวิจัยของกรมควบคุมโรค ที่รวบรวมการติดเชื้อในบุคลากรสาธารณสุขทั้งหมดในเดือน พ.ค. พบว่าป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 70 ก็ยังถือว่ามีประสิทธิภาพดีพอสมควร

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า พบข้อสังเกตคือ ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนเริ่มลดลง เนื่องจากเชื้อมีการกลายพันธุ์ เพราะฉะนั้นจึงมีสาเหตุที่ต้องหาวัคซีน หรือหาวิธีที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ดีขึ้น และเป็นที่มาของการปรับสูตรฉีดวัคซีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง