หุ่นยนต์ส่งพิซซ่า ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ลดต้นทุนและก๊าซคาร์บอน

Logo Thai PBS
หุ่นยนต์ส่งพิซซ่า ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ลดต้นทุนและก๊าซคาร์บอน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัทเทคโนโลยีด้านระบบขับเคลื่อนและยานยนต์ จากประเทศแคนาดา พัฒนาหุ่นยนต์ส่งพิซซ่า ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิตแต่ยังรักษ์โลกมากขึ้น ด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยลง

ธุรกิจดิลิเวอรีกำลังเฟื่องฟู เพราะเทรนด์การสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะเริ่มเบาบางลงแล้ว อาจเป็นเพราะความสะดวกสบายและความเคยชิน การเติบโตของบริการดิลิเวอรีทำให้ปริมาณรถขนส่งอาหารก็มากขึ้นตาม จึงส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น

บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีจากแคนาดา ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของอเมริกาเหนือและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ได้พัฒนาหุ่นยนต์ส่งพิซซ่า ซึ่งเป็นการจัดส่งอาหารที่ทำงานอัตโนมัติเต็มรูปแบบ โดยได้นำร่องทดลองใช้งานในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมีนาคม 2022

หุ่นยนต์ส่งพิซซ่ามีลักษณะคล้ายตู้อาหาร คล้ายรถ 3 ล้อขนาดเล็ก ภายในมีช่องใส่อาหาร พร้อมบานเลื่อนเปิด - ปิด บริษัทได้พัฒนารถยนต์ส่งพิซซ่าให้มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยใช้ภาพจากกล้องที่ติดกับตัวรถ ระบบเซนเซอร์แบบไลดาร์ (Lidar) ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ช่วยในการจัดส่งสินค้า หุ่นยนต์ส่งอาหารขับเคลื่อนด้วยพลังงานงานไฟฟ้า ทำความเร็วสูงสุด 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

บริษัทผู้ผลิตมีเป้าหมายในการพัฒนาหุ่นยนต์ส่งอาหารอัตโนมัติเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยลง โดยหุ่นยนต์ส่งอาหารเป็นเพียงก้าวแรกในการสร้างระบบขนส่งสินค้าอัตโนมัติของบริษัท โดยบริษัทผู้ผลิตยังได้พัฒนาและทดลองเทคโนโลยีและการใช้งานแอปพลิเคชันใหม่ ๆ เพื่อทำให้การใช้งานมีความคล่องตัว สามารถตอบสนองกับความต้องการและมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น

ชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคปัจจุบันมักมองหาเครื่องอำนวยความสะดวก เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง จนอาจมองข้ามผลเสียที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม คงจะดีไม่น้อยหากเทคโนโลยีจะช่วยอำนวยความสะดวกและดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้ ในปัจจุบันมีการพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อหวังจะลดทั้งต้นทุนการจ้างแรงงาน และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยคาดว่าในอนาคตอันใกล้อาจมีการใช้งานระบบขนส่งสินค้าแบบอัตโนมัติมากขึ้น

ที่มาข้อมูล: magna, electrek, electricautonomy
ที่มาภาพ: magna
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง