ไขคำตอบ "พระธาตุ" ครูบาฉ่ายที่แท้ "ซิลิกาเจล"

สังคม
17 ก.ค. 66
15:01
3,826
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ "พระธาตุ" ครูบาฉ่ายที่แท้ "ซิลิกาเจล"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไขคำตอบ "พระธาตุ" ครูบาฉ่าย ผลพิสูจน์ 3 สถาบัน ไม่พบสารประกอบ "โปรตีน" แต่เป็น "ซิลิกาเจล" และ "โอปอ" ที่มีการย้อมสี

กรณีที่ศิษย์ "ครูบาฉ่าย" เผยผล ตรวจสสารที่ออกมาจากร่างกายของพระครูบาฉ่าย โดยมีการอ้างว่า เป็นเม็ดพระธาตุที่ออกมาจากเหงื่อ และจากการส่งตรวจที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ, กรมทรัพยากรธรณี, กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสถาบันอัญมณีแห่งชาติ พบว่าเม็ดสสารนั้นมีองค์ประกอบจากสิ่งมีชีวิตอยู่

นอกจากนี้ ทางคณะศิษย์ยังระบุด้วยว่า ไม่ได้นำเอาผลตรวจที่ได้ไปอวดอ้างอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่ผิดต่อหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของสสารที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เองตามธรรมชาติเท่านั้น

ทธ.ยันไม่พบโปรตีนใน "พระธาตุ" ครูบาฉ่าย  

กรณีดังกล่าวหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงต่างออกมาตอบโต้กัน เริ่มจาก กรมทรัพยากรธรณี โพสต์ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา ตัวแทนคณะศิษย์ที่พักสงฆ์วัดป่าบ่อน้ำพระอินทร์ ได้นำตัวอย่างเม็ดกลมสีแดงคละขนาด ตั้งแต่เล็กกว่า 2 มม. จนถึง 2 มม. มาขอตรวจสอบวัตถุดังกล่าว

กรมทรัพย์ฯ ได้ตรวจสอบทางวิชาการ ตัวอย่างดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือทางห้องปฏิบัติการ (XRD และ micro XRF) โดยผลการวิเคราะห์พบเป็นสารประกอบที่ไม่มีรูปผลึกมีธาตุซิลิกอนและออกซิเจน เป็นองค์ประกอบ และเมื่อเผาตัวอย่างที่อุณหภูมิ 700 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที ผลการวิเคราะห์พบ "โซเดียมซัลเฟต" เป็นส่วนประกอบ 

จากผลการตรวจวิเคราะห์เคมีทางวิชาการพบว่า ไม่พบมีสารประกอบของ "โปรตีน" ในตัวอย่างที่ทำการวิเคราะห์

สวทช. ยัน "พระธาตุ" ครูบาฉ่ายเป็นแค่ "ซิลิกาเจล"

สอดคล้องกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ออกมาระบุว่า ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. กล่าวถึงกรณีที่มีลูกค้าได้นำตัวอย่าง เป็นเม็ดสีชมพูใสมาให้ทดสอบ ทางห้องปฏิบัติการได้นำไปทดสอบด้วยเทคนิคทางด้านเอ็กซเรย์ (EDXRF) และเทคนิค FTIR พบว่า ในตัวอย่างมีธาตุซัลเฟอร์ และธาตุซิลิคอนเป็นองค์ประกอบ และจากสเปคตรัม เมื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลแล้ว ผลที่ได้ตรงกับลักษณะของ "ซิลิกาเจล"

พระธาตุซิลิกา โอปอย้อมสี

อีกสถานบันที่ออกมายืนยัน สถาบันอัญมณีแห่งชาติ แถลงข่าวถึงกรณีนี้ระบุ ได้มีการตรวจสอบวัสดุที่อ้างว่าเป็น "พระธาตุ" ซึ่งการตรวจสอบ พบว่าสิ่งที่ส่งตรวจดังกล่าวเป็นวัตถุทรงกลม ขนาดประมาณ 3.5 มิลลิเมตร จากการตรวจสอบด้วยเครื่องมือขั้นสูง พบว่าวัตถุดังกล่าวมีองค์ประกอบหลักเป็น "ซิลิกา"  

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบโครงสร้างทางผลึกพบว่าเป็นสารซิลิกา ชนิดที่ไม่มีโครงสร้างทางผลึก หรือเรียกว่าเป็น แร่อสัณฐาน (Amorphous) ประกอบกับผลการตรวจสอบคุณสมบัติอื่น ๆ สรุปได้ว่าตัวอย่างดังกล่าว คือ "โอปอ" และจากการตรวจสอบด้วยกล้องกำลังขยายสูง ยังพบสีขังตามรอยแตกในเนื้อที่ชัดเจน บ่งชี้ว่ามีการปรับปรุงคุณภาพด้วยการย้อมสี 

พร้อมยืนยันสถาบันใช้วิธีการตรวจสอบเป็นไปตามหลักมาตรฐานการตรวจสอบอัญมณีที่เป็นสากล

ความศรัทธาสู่วิทยาศาสตร์ที่ช่วยไขคำตอบหักล้างความเชื่อบางส่วน เรื่องนี้ไทยพีบีเอสออนไลน์ยังได้คุยกับ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ (อาจารย์อ๊อด) อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งก็เป็นอีกคนที่ออกมายืนยันว่า มีการนำสิ่งดังกล่าวไปตรวจที่ห้องแล็บ ผลยืนยันว่าไม่ใช่พระธาตุ

สารดูดความชื้น "ซิลิกาเจล" 

รศ.วีรชัย อธิบายว่า ซิลิกาเจล/ซิลิกอนไดออกไซด์ คือ เจลที่เกิดจากพอลีเมอร์ของกรดซิลินิก พอลิเมอร์ตัวนี้เป็นสารสังเคราะห์ไม่มีทางเกิดขึ้นเองจากสิ่งมีชีวิต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของร่างกาย หลายครั้งมีความพยายามจะโยงเข้าหาสิ่งมีชีวิต โดยพยายามตรวจหาโปรตีนโดยใช้เทคนิคคุณภาพวิเคราะห์ ซึ่งไม่มีมาตรฐานและมีความคาดเคลื่อนสูงมาก

โพลิเมอร์ เจลเป็นซิลิกาที่ใช้ดูดความชื้น มีลักษณะใส อีกตัวเป็นโซเดียมซัลเฟต ก็เป็นสารดูดความชื้นเช่นกัน เป็นลักษณะผงสีขาว แต่หากเจอความชื้นก็จะม้วนตัว จับกันเป็นก้อนเป็นลักษณะใส นิ่ม ๆ มีทั้งก้อนที่แข็งและก้อนที่อ่อน ทั้ง 2 อย่างไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ไม่เกี่ยวกับสรีระร่างกาย

สำหรับ ซิลิกาเจล เป็นสารสังเคราะห์ในรูปซิลิกอนไดออกไซด์ ที่มีพื้นที่ผิวมาก ดูดความชื้นโดนการกักเก็บความชื้นไว้ที่โพรงของโครงสร้างด้านใน สามารถดูดความชื้นอยู่ที่ 24-40% ของน้ำหนักตัว และจะมีประสิทธิภาพสูงสุดที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส 

ซิลิกาที่ถูกนำมาใช้ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ เม็ดใส ขนาด 2-5 มิลลิเมตร และเม็ดสีน้ำเงิน ที่มีการเติม cobalt chloride ลงไปทำให้มีสีน้ำเงิน ซึ่งสีน้ำเงินนี้จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู เมื่อความชื้นสัมพัทธ์ภายนอกสูงกว่า 40%

ซิลิกาเจลชนิดนี้จึงมีประโยชน์ในการสังเกตว่า ผลิตภัณฑ์มีความเสี่ยงต่อความชื้นแค่ไหน หากซิลิกาเจลที่ใช้ยังคงมีสีน้ำเงินหรือไม่เปลี่ยนสีมากนัก แสดงว่าความชื้นรอบข้างถูกซิลิกาเจลดูดไว้และมีระดับความชื้นสัมพัทธ์ที่ต่ำ ทางตรงข้าม หากสีของซิลิกาเจลเปลี่ยนเป็นสีชมพู แสดงว่าความชื้นรอบข้างมีปริมาณสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมทรัพยากรธรณี ยืนยัน ไม่พบโปรตีนในตัวอย่าง "พระธาตุ" ครูบาฉ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง