รู้จัก CADRE หุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์แบบอัตโนมัติของนาซา

Logo Thai PBS
รู้จัก CADRE หุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์แบบอัตโนมัติของนาซา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์รุ่นใหม่ของนาซาที่มีขนาดเท่ากับกระเป๋าเดินทาง เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบเพื่อเตรียมพร้อมสู่การสำรวจดวงจันทร์

นาซาเตรียมใช้หุ่นยนต์โรเวอร์ขนาดเล็กเท่ากระเป๋าเดินทาง 3 ตัว ในการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์แบบอัตโนมัติภายใต้โครงการ CADRE (Cooperative Autonomous Distributed Robotic Exploration) ของห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น ขององค์การนาซา (NASA Jet Propulsion Laboratory)

ในโครงการ CADRE ทีมวิศวกรจะส่งโรเวอร์ขนาดเล็ก 3 ตัว ไปลงบนดวงจันทร์บริเวณ Reiner Gamma ภายใต้โครงการ CLPS (Commercial Lunar Payload Services) ภายในปี 2024

โรเวอร์ทั้ง 3 ตัวมีขนาดเท่ากระเป๋าเดินทางขนาดเล็กเท่านั้น มีอุปกรณ์สำหรับการทำแผนที่อย่างกล้องและเรดาร์ ใช้พลังงานจากแบตเตอรีและแผงโซลาร์เซลล์ การสื่อสารกับโลกกระทำผ่านยานแม่ที่จะไปลงจอดบนดวงจันทร์ โรเวอร์ทั้ง 3 ตัว สามารถสื่อสารระหว่างกันได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องส่งคำสั่งแยกกัน แต่สามารถสั่งได้พร้อมกันทั้ง 3 ตัว แล้วโรเวอร์จะจัดการแบ่งงานกันเองโดยอัตโนมัติ

โครงการ CADRE ถือเป็นโครงการสาธิตเทคโนโลยีการสำรวจพื้นผิวด้วยหุ่นยนต์หลายตัวพร้อมกันเพื่อทดสอบความสามารถและประสิทธิภาพในการร่วมมือกันระหว่างหุ่นยนต์แต่ละตัว เช่น ทีมควบคุมภารกิจอาจจะสั่งให้ “ไปสำรวจพื้นที่ ก” โรเวอร์ทั้ง 3 ตัวจะตัดสินใจกันเองว่าจะสำรวจพื้นที่ ก อย่างไรให้ได้เร็วที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด และปลอดภัยที่สุด อาจจะแบ่งกันไปสำรวจพื้นที่ย่อย หรือเดินไปพร้อม ๆ กันเป็นแนวสำรวจก็ได้เช่นกัน

นอกจากการทดสอบระบบเหล่านี้แล้ว โรเวอร์ CADRE ยังจะต้องสามารถทนต่อสภาวะอันโหดร้ายบนดวงจันทร์ได้ ในตอนกลางวัน อุณหภูมิที่บริเวณ Reiner Gamma ของดวงจันทร์อาจสูงถึง 114 องศาเซลเซียส ซึ่งโรเวอร์จะต้องสามารถทนต่ออุณหภูมิดังกล่าวได้เนื่องจากต้องใช้แสงอาทิตย์ในการชาร์จแบตเตอรี เพื่อความปลอดภัย วิศวกรของ CADRE ได้ออกแบบโปรแกรมของ CADRE ให้ชาร์จแล้วพักเป็นระยะทุก ๆ 30 นาที เพื่อระบายความร้อนแล้วชาร์จใหม่

การสำรวจบนดวงจันทร์จะเริ่มด้วยการให้โรเวอร์ทั้ง 3 ตัววิ่งไปพร้อม ๆ กันบนดวงจันทร์ เพื่อดูว่าโรเวอร์ทั้ง 3 สามารถสื่อสารตำแหน่งของตัวเองได้ดีเพียงใด เช่น ในกรณีที่โรเวอร์ต้องหลบสิ่งกีดขวางแล้วจะสามารถกลับมาเดินด้วยกันอีกได้หรือไม่ การทดลองหลังจากนั้นจะเป็นการให้โรเวอร์สำรวจด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติเพื่อสร้างแผนที่พื้นผิวดวงจันทร์สามมิติ

ปัจจุบัน โรเวอร์ทั้ง 3 ตัว กำลังถูกทดสอบอยู่ที่ “Mars Yard” ของห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นซึ่งเป็นพื้นที่จำลองพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งมีไว้ทดสอบหุ่นยนต์ปฏิบัติการพื้นผิวดาวอังคาร ในภาพจะเห็นโมเดลจำลองทางวิศวกรรมของโรเวอร์เพอร์เซเวอแรนซ์ (Perseverance) บนดาวอังคารที่มีชื่อว่า “OPTIMISM” คู่กับโรเวอร์ CADRE เพื่อเปรียบเทียบขนาด

ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง