“ปัสสาวะเล็ด” ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ฝึกขมิบช่องคลอดช่วยได้ แนะข้อสังเกตก่อนพบแพทย์

สังคม
4 ก.ย. 66
09:54
387
Logo Thai PBS
“ปัสสาวะเล็ด” ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ฝึกขมิบช่องคลอดช่วยได้ แนะข้อสังเกตก่อนพบแพทย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหาปัสสาวะเล็ด เป็นภาวะที่ไม่ได้อันตรายและไม่ถึงแก่ชีวิต แต่กระทบกับคุณภาพการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แต่ผู้หญิงบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา บางคนไม่กล้าไปปรึกษาแพทย์ เพราะมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย

สูตินรีแพทย์แนะนำวิธีป้องกัน และรักษาด้วยวิธีการขมิบช่องคลอด เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง วิธีการนี้สามารถช่วยได้ถึงร้อยละ 60-80 สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องใช้วิธีการผ่าตัด

เสียงสะท้อนผู้ป่วย “ปัสสาวะเล็ด” กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน

นางสุวิมล วัย 70 ปี หนึ่งในผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดมาเกือบ 2 ปี เธอเล่าว่า เมื่อทำกิจกรรมที่ต้องขยับตัว ก็จะพบกับปัญหาปัสสาวะเล็ด ช่วงแรกมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เมื่อถึงวัยสูงอายุจะมีโอกาสเป็นภาวะนี้ได้ จึงไม่ได้ไปปรึกษาแพทย์

ที่ผ่านมากระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันมาก ขาดความมั่นใจเมื่อต้องเจอกับคนเยอะๆ บางครั้งไม่อยากเข้าสังคม ทำให้ทุกวันนี้ต้องใส่แผ่นรองปัสสาวะ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะเปียกเลอะเทอะ

บางทีก็อายนิดๆ กางเกงเราเปียกคนอื่นจะเห็นไหม เวลาเดินทางก็กังวลว่าจะหาห้องน้ำทันไหม ต้องใส่แผ่นรองปัสสาวะ

สาเหตุ “ปัสสาวะเล็ด”

รศ.พญ.อรวี ฉินทกานันท์ อาจารย์ประจำสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดปัสสาวะเล็ดว่า บริเวณช่องคลอดมีเนื้อเยื่อแข็งแรงที่คอยพยุงอุ้งเชิงกรานไว้ หากเนื้อเยื่อบริเวณนี้ได้รับบาดเจ็บจะทำให้ปัสสาวะเล็ด เช่น การคลอดลูกทางช่องคลอด ทำให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันอ่อนแอลง ส่งผลให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

เวลาเพิ่มแรงดันในช่องท้อง กล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะ ช่วยป้องกันไม่ให้ปัสสาวะเล็ด แต่เมื่อเนื้อเยื่อเหล่านี้อ่อนแอลง การกลั้นปัสสาวะจะทำได้ลดลง เวลาเบ่ง ไอ จาม ปัสสาวะจะเล็ดออกมา
รศ.พญ.อรวี ฉินทกานันท์ อาจารย์ประจำสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.พญ.อรวี ฉินทกานันท์ อาจารย์ประจำสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.พญ.อรวี ฉินทกานันท์ อาจารย์ประจำสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะไอจามปัสสาวะเล็ด

รศ.พญ.อรวี ระบุว่า ปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะไอจามปัสสาวะเล็ด เกิดจากความดันในช่องท้องมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยง คือ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีไขมันในช่องท้องมาก และดันให้น้ำหนักทั้งหมดอยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน รวมไปถึงการไอ การเบ่งรื้อรัง เช่น ท้องผูกเรื้อรัง ทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้การยกของหนัก การคลอดลูกทางช่องคลอด อายุที่เพิ่มขึ้น และการขาดฮอร์โมน ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดภาวะไอจามปัสสาวะเล็ดได้

เรามีการเก็บตัวเลข ผู้หญิงที่อายุเพิ่มขึ้น จะได้รับการผ่าตัดเพราะอุ้งเชิงกรานหย่อน หรือ ปัสสาวะเล็ด ร้อยละ 11 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เยอะ หากอนาคตประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ตัวเลขเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้น

พบผู้ป่วยปัสสาวะเล็ดเพิ่มขึ้น

นพ.อภิสิทธิ์ สาราลักษณ์ แพทย์ต่อยอดสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริมภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าว่า มีผู้ป่วยเข้ามารักษาที่คลินิกนารีเวชทางเดินปัสสาวะฯ เพิ่มมากขึ้น โดยอาการที่มาพบ มีทั้งภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน ภาวะปัสสาวะเล็ดราด หรือ การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่ภาวะไอจามปัสสาวะเล็ด จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ

ประเทศไทยเป็นสังคมคมสูงวัย มีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น การเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งโรคนี้เป็นไปตามวัย เป็นโรคที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่อายุเยอะ และมีน้ำหนักตัวมาก ทำให้พบผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

สัญญาณที่ต้องพบแพทย์

นพ.อภิสิทธิ์ ระบุว่า ผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจภายใน คัดกรองโรคทางนรีเวชทุกปี ส่วนเรื่องที่เฉพาะเจาะจง เช่นการตรวจนรีเวชทางเดินปัสสาวะ หากรู้สึกไม่สบายใจหรือเริ่มรู้สึกว่าอาการต่าง ๆ เริ่มกระทบกับคุณภาพชีวิต การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงมีผลกระทบต่อความไม่มั่นใจในการใช้ชีวิต สามารถปรึกษาเพื่อตรวจอาการ

นพ.อภิสิทธิ์ สาราลักษณ์ แพทย์ต่อยอดสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริมภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

นพ.อภิสิทธิ์ สาราลักษณ์ แพทย์ต่อยอดสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริมภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

นพ.อภิสิทธิ์ สาราลักษณ์ แพทย์ต่อยอดสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริมภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

วิธีการรักษา “ปัสสาวะเล็ด”

นพ.อภิสิทธิ์ ระบุว่า วิธีการรักษา ขึ้นอยู่กับภาวะปัสสาวะเล็ดกระทบกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแต่ละบุคคล โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินการรักษา ซึ่งแนวทางการรักษา แบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การควบคุมน้ำหนัก ลดปริมาณการดื่มน้ำ ส่วนผู้ป่วยบางคนต้องใช้ยารักษา ทั้งกลุ่มของยากินและยาสอดทางช่องคลอด นอกจากนั้นมีผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัด

การเข้าสู่กระบวนการรักษาขึ้นอยู่กับการกระทบคุณภาพชีวิตของคนไข้เอง

รศ.พญ.อรวี ระบุว่า ภาวะปัสสาวะเล็ดส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน การรักษาจะช่วยทำให้ชีวิตประจำวันดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งการรักษามีหลายวิธี เช่น การฝึกขมิบช่องคลอด ช่วยป้องกันและรักษาภาวะไอจามปัสสาวะเล็ดที่มีอาการไม่เยอะ

หากขมิบช่องคลอดต่อเนื่อง 3 เดือน อาการไม่ดีขึ้น มีวิธีการรักษาทางเลือกอื่น เช่น การนั่งเก้าอี้ การใช้ห่วงใส่ช่องคลอด วิธีการผ่าตัดการใส่สลิง การฉีดสารเข้าไปบริเวณท่อปัสสาวะที่อยู่บริเวณกล้ามเนื้อหูรูด เพื่อทำให้กลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น รวมไปถึงการยิงเลเซอร์ในช่องคลอด

การยิงเลเซอร์ในช่องคลอด ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ หากข้อมูลเพิ่มมากขึ้น น่าจะเป็นความหวังในอนาคต

ฝึก “ขมิบช่องคลอด” ป้องกันและรักษาปัสสาวะเล็ด

นพ.อภิสิทธิ์ ระบุว่า วิธีการป้องกันและรักษาปัสสาวะเล็ดโดยไม่ต้องผ่าตัด และเป็นวิธีที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายคือการขมิบช่องคลอด โดยวิธีนี้เป็นการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเหมือนกับการออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแขนแข็งแรง โดยการใช้แขนยกเวท แต่วิธีการขมิบช่องคลอด เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานมีความแข็งแรงมากขึ้น ช่วยให้สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้ด้วย

จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยที่ขมิบกล้ามเนื้อของอุ้งเชิงกรานได้ถูกวิธี และทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง 3-6 เดือน สามารถลดอาการปัสสาวะเล็ดได้ถึงร้อยละ 60-80 เป็นวิธีการมาตรฐานที่รักษาโรคนี้โดยเฉพาะ

ผู้หญิงทุกคนที่ขมิบช่องคลอด จะทำให้มีกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่แข็งแรงขึ้น ต่อให้ไม่เป็นโรค ถ้าทำอย่างสม่ำเสมอ จะป้องกันการเกิดปัสสาวะเล็ดได้ด้วย สามารถใช้ได้ทั้งการป้องกันและการรักษา

รายงาน : วิภา ปิ่นแก้ว ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง