เส้นทาง “บิ๊กต่อ” หลังผงาดเบอร์ 1 ตร.

อาชญากรรม
28 ก.ย. 66
15:31
6,097
Logo Thai PBS
เส้นทาง “บิ๊กต่อ” หลังผงาดเบอร์ 1 ตร.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่ใช่เรื่องผิดความคาดหมาย สำหรับการประชุมเลือก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บัญชาการแห่งชาติคนใหม่ เพราะความจริง ชื่อของ “บิ๊กต่อ” ก็ “เต็งจ๋า” มาตั้งแต่เมื่อครั้งนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ตร. เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2566 แล้ว

เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจส่งไม้ต่อให้กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร. วาระนี้แทน

แม้การประชุม ก.ตร.นัดสำคัญจะเลื่อนออกไปเป็นเดือน กระทั่งลงล็อคอีกที 27 ก.ย.2566 และถึงแม้จะมีปฏิบัติการคอมมานโด พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าตรวจค้นบ้านที่พักของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 2 และเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.ด้วย ก่อนหน้าวันประชุมเคาะเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ เพียง 2 วัน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ว่าเป็นศึกใหญ่ “ตำรวจตัดตำรวจ”

แต่สุดท้าย “บิ๊กต่อ” ก็ยังคว้าเก้าอี้ใหญ่ เบอร์ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ดี สะท้อนให้เห็นถึงบารมีที่ล้นเหลือ มีนัยสำคัญคือ กุมอำนาจในสำนักงานตำรวจฯ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

เมื่อตำรวจในสาย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ตีคู่กันมาในการสะสมบารมีใน สตช. ถูกคำสั่งย้ายแทบจะยกชุด หลังจากถูกระบุว่า พัวพันและเรียกตบทรัพย์จากเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่ โดยมีหลักฐานเส้นทางทางการเงินที่ชัดเจน ทั้งจากบัญชีม้าและบัญชีส่วนตัวของตำรวจในกลุ่ม

ขณะที่ “บิ๊กโจ๊ก” ก็โดนมรสุมลูกใหญ่ครั้งที่ 2 เข้าเต็มเปา จนต้องถอยไปตั้งหลัก ไม่รู้จะเอาตัวรอดได้อย่างไร โทษฐานไม่ดูแลลูกน้อง ปล่อยให้มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย

แม้นายเศรษฐา จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ กรณีตำรวจคอมมานโดเข้าตรวจค้นบ้าน แต่ไม่มีผลต่อการเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.ครั้งนี้สำหรับ “บิ๊กโจ๊ก” แล้ว หากแต่ผลการตรวจสอบ จะกระทบโดยตรงอย่างปฏิเสธไม่ได้ ต่อสถานภาพของ “บิ๊กโจ๊ก” บนเส้นทางนายตำรวจนับจากนี้เสียมากกว่า

การผงาดขึ้นเบอร์ 1 ของ “บิ๊กต่อ” ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาเช่นเดียวกัน เพราะใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มีกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับพิจารณาประกอบในการเลือก ผบ.ตร.ไว้ชัดเจน คือต้องพิจารณาจากความอาวุโส 50 เปอร์เซ็นต์ และดูจากความรู้ความสามารถอีก 50 เปอร์เซ็นต์

เท่ากับหากยึดกฎเกณฑ์นี้ ผู้ที่เหมาะสมควรได้รับเลือกเป็น ผบ.ตร.คนใหม่ ต้องเป็น พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1 เป็นคนแรก แทนที่จะเป็นรองผบ.ตร.อาวุโส ลำดับที่ 4 อย่างผลที่ออกมา

จึงต้องมีการวัดใจ “บิ๊กรอย” ด้วยว่า จะข้องใจเรื่องนี้ถึงขั้นยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมจากการถูกละเลย ตามช่องทางที่เปิดไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับนี้ด้วยหรือไม่

หรือผ่านทางศาลปกครอง หรือจะทำใจทนอยู่ในตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ต่อไปจนเกษียณอายุราชการ เดือนกันยายน ปี 2567 หรืออาจตัดสินใจข้ามห้วยไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. อย่างที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้

หากเดินหน้าใช้สิทธิ์ เท่ากับจะเป็นการพิสูจน์ความขลังของกฎหมายฉบับนี้ และผลจะออกมาอย่างไร จะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับการพิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนต่อ ๆ ไป ว่าต้องโปร่งใส และต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ยังไม่นับรวมเรื่องสำคัญ คือการสร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้น ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องการขบเหลี่ยมเชือดคมกันเองของคนระดับ “บิ๊ก” ถึงขั้นสามารถสั่งตำรวจคอมมานโดพร้อมอาวุธครบมือ ไปปิดล้อมตรวจค้นบ้านที่พักของคนระดับรอง ผบ.ตร.ได้ ทั้งที่สามารถใช้วิธีออกหมายเรียก หรือวิธีการอื่นที่นุ่มนวลกว่านี้ได้

รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แทนที่การสร้างอาณาจักรของใครของมันซ้อนอยู่ใน สตช.อีกชั้นหนึ่ง อย่างที่เห็นได้ชัดเจน จากกรณีความขัดแย้งในระดับ”ตำรวจตัดตำรวจ”ครั้งนี้

หาไม่แล้ว ความขลังของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่สูญหายไปเนิ่นนาน ก็ยังจะสูญสิ้นต่อไป โดยไม่อาจกู้คืนศรัทธาและความเชื่อมั่นใดๆ ได้

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง