นายกฯ ลาพักร้อนครั้งแรก ถูกโยง ”โทนี่” ติดคุกครบ 120 วัน

การเมือง
19 ธ.ค. 66
15:21
504
Logo Thai PBS
นายกฯ ลาพักร้อนครั้งแรก ถูกโยง ”โทนี่” ติดคุกครบ 120 วัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ลาพักร้อนครั้งแรกแล้ว สำหรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีผลตั้งแต่หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 ธ.ค.2566 เสร็จสิ้น ไปจนถึงเที่ยง วันศุกร์ที่ 22 ธ.ค.2566 ก่อนจะกลับมาทำงานอีกครึ่งวันหลังของวันเดียวกัน

ฟังจากคำแจกแจงของนายเศรษฐา คือลูก 2 คน จะเดินทางกลับประเทศไทย จะได้มีเวลาท่องเที่ยวพักผ่อนไปด้วยกันได้ รวมทั้งมีเวลาให้กับแม่ที่อายุ 96 ปีแล้ว แต่ยืนยันว่า สามารถติดต่อสื่อสารเรื่องงานได้ตลอดเวลา

เหตุที่การลาพักของนายกฯ อยู่ในความสนใจ เนื่องจากที่ผ่านมา เจ้าตัวประกาศทำงานแบบไม่มีวันหยุด แม้แต่วันเสาร์-อาทิตย์ก็ทำงาน จนกลายเป็นเรื่องคุ้นชินของผู้คน ทั้งที่การลาพักร้อนหรือวันหยุด ถือเป็นเรื่องปกติ นายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ก็ทำกันทั้งนั้น

"ศรีสุวรรณ" เตรียมร้อง "ศาลปกครอง" ฟ้องกรมราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจ ให้ "ทักษิณ" กลับนอนคุก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนเป็นนายกฯ วันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนใหญ่ก็หยุด ไม่ได้เข้าทำเนียบ ไม่มีหมายงาน ก็ไม่มีใครว่า แต่พอนายเศรษฐาจะหยุดบ้าง จึงถูกมองเป็นเรื่องผิดปกติ

แต่นั่นเป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่งเท่านั้น อาจเป็นเพราะการลาครั้งนี้ มีไปถึงเที่ยงวันศุกร์ที่ 22 ธ.ค. จึงมีคำถามว่า ทำไมไม่ลาพักทั้งวันศุกร์ไปเลย ทำไมต้องครึ่งวัน

จึงถูกโยงไปถึงเรื่องวันที่ 22 ธ.ค. วันที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีข่าวยังนอนพักรักษาตัว โดยไม่มีใครเคยแจกแจงเลยว่า นอนป่วยรักษาโรคอะไร และการผ่าตัดที่ผ่านมา ผ่ารักษาโรคอะไร

เช็กชื่ออดีตผู้นำโลกใช้สิทธิ "ลาพักร้อน" ขณะปฏิบัติหน้าที่

ภาพเดียวที่ผู้คนได้เห็นยืนยันป่วยจริง คือ ภาพนอนบนเตียงรักษาไข้ เข็นออกมานอกตึกให้ผู้คนได้เห็นและมีภาพปรากฏบนหน้าสื่อ ทั้งที่ปกติการจะส่งคนไข้ไปตรวจรักษา จะมีเตียงเล็ก หรือรถเข็น ไม่จำเป็นต้องเข็นเตียงใหญ่สำหรับนอนพักในโรงพยาบาลไปอย่างที่เห็น

นายทักษิณ ได้รับพระราบทานอภัยลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี กำหนดครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค. โดยในวันดังกล่าว อธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้รัฐมนตรียุติธรรม คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เพื่อรับทราบ

และรัฐมนตรียุติธรรม ได้พูดย้ำในวันก่อนว่า ตนทำได้เพียงรับทราบ แต่ไม่มีสิทธิจะไปก้าวก่ายแทรกแซงอะไร คนไข้อยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้ทำการรักษา รพ.ตำรวจ จะวินิจฉัยว่า จะให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไปอีกหรือไม่

ความสำคัญอีกประการของวันที่ 22 ธ.ค. คือเป็นวันที่นายทักษิณติดคุกครบ 120 วัน หรือ 4 เดือน เท่ากับติดคุกครบ 1 ใน 3 ของโทษที่เหลืออยู่ ซึ่งจะเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษของกรมราชทัณฑ์ แม้ระเบียบกรณีผู้ต้องขังได้รับการพักโทษ ต้องติดคุกแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของโทษที่ได้รับ แต่มีเกณฑ์แยกย่อย 3 ข้อ สำหรับนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป เป็นผู้ป่วยชราภาพ และต้องโทษแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก ซึ่งนายทักษิณ เข้าเกณฑ์ทั้งหมด

ประกอบกับ กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำ ลงนามโดยรักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา และได้ส่งเป็นหนังสือเวียนไปยัง ผบ.เรือนจำ ผอ.ทัณฑสถาน ผอ.สถานกักขัง และ ผอ.สถานกักกัน ทุกแห่ง เพื่อให้ปฏิบัติตาม และทำรายชื่อผู้ต้องขังแจ้งต่อกรมราชทัณฑ์เพราะระเบียบดังกล่าวมีผลทันที

เปิดคำต่อคำ “จตุพร” มองอนาคต “ทักษิณ”

ซึ่งสถานที่คุมขังนอกเรือนจำ หมายถึงที่สำหรับอยู่อาศัย ทั้ง บ้าน อาคารที่พัก ที่มีตำแหน่งที่ตั้งและเลขที่ชัดเจน รวมถึงสถานพยาบาล และโรงพยาบาลด้วย จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า วันที่ 22 ธ.ค. อาจมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นกับนายทักษิณ

อาจเป็นเรื่องพักโทษ หรือมีรายชื่อได้คุมขังนอกเรือนจำ หรือประกาศให้โรงพยาบาลตำรวจ ที่นอนพักรักษาตัวอยู่ เป็นหนึ่งในสถานที่คุมขังนอกเรือนจำ ระหว่างรอการพักโทษเพื่อลดแรงกดดันรอบด้าน ก็เป็นได้

ต้องไม่ลืมว่า เรื่องการพ้นโทษ หรือการพักโทษ หรือพ้นเรือนจำ คือการคืนเสรีภาพให้กับผู้ต้องขัง ที่ต้องทำทันที ต้องไม่ล่าช้าออกไปแม้แต่ชั่วโมงเดียว เป็นภาคปฏิบัติที่ต้องเข้าใจหัวอกผู้ต้องขัง

การลาพักครึ่งวันแรกวันที่ 22 ธ.ค.จึงอาจเป็นคำตอบในทีว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเรื่องที่อาจเกิดขึ้นกับนายทักษิณ ในวันดังกล่าว แม้ในทางปฏิบัติ อาจเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตของคนคิดมากเท่านั้นก็ตามที

ทั้ง พ.ต.อ.ทวี เคยให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.2566 ที่มีการลงนามในระเบียบเรื่องคุมขังนอกเรือนจำของรักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่าระเบียบดังกล่าว จะใช้กับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีเท่านั้น ส่วนนายทักษิณที่เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดไม่เข้าเงื่อนไข

เท็จจริงอย่างไร รอติดตาม

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง