สส.เพื่อไทย เสี่ยงสอบตกระนาว เหตุรัฐต้องเดินหน้า “เงินดิจิทัล”

การเมือง
6 ก.พ. 67
14:45
950
Logo Thai PBS
สส.เพื่อไทย เสี่ยงสอบตกระนาว เหตุรัฐต้องเดินหน้า “เงินดิจิทัล”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“ดิจิทัลวอลเล็ต” เป็นโครงการที่คนไทยส่วนใหญ่รอลุ้นมานาน เช่นเดียวกับแกนนำในรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยพยายามเดินหน้าตลอด แม้บางช่วงจะมีเสียงต่อต้าน หรือเสนอให้ลดกลุ่มเป้าหมายลง

ล่าสุดที่ฝ่ายรัฐบาลอ้างถึง คือ ซูเปอร์โพล ที่ระบุผลสำรวจว่า ประชาชนไม่ว่าจะช่วงอายุใด มีรายได้ระดับไหน ส่วนใหญ่เชื่อมั่นและรอคอยรัฐบาลแจก “ดิจิทัลวอลเล็ต” คนละ 1 หมื่นบาท ด้วยเหตุผลสนับสนุน คือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ถัดมาเป็นตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือน ม.ค.2567 ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือสนค. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงพาณิชย์ ระบุเงินเฟ้อลดลงร้อยละ 1.11 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน

เป็นตัวเลขที่ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้ว่า เป็นสัญญาณความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของประเทศ เป็นการเตือนให้รู้ว่า นโยบายการคลัง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และนโยบายการเงิน ที่เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ ต้องสอดประสาน และเดินไปด้วยกันจึงจะแก้ปัญหาประเทศได้

และเป็นตัวเลขเดียวกันกับที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ประเทศยังอยู่ในช่วงวิกฤต และสำทับว่า ที่น่าห่วงขณะนี้คือวิกฤตทางการเงิน ซึ่งเคยส่งผลสะเทือนร้ายแรงมาก คือวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 จึงเตือนให้คนที่ต่อต้านการกระทำของรัฐบาล ให้คำนึงถึงด้วย เพราะหากรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย โอกาสเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งจะกลับมาอีก แล้วใครจะรับผิดชอบ

เป็นการสื่อสารชัดเจนว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลต้องเดินหน้าต่อ แม้ที่ผ่านมาจะมีเสียงต่อต้าน ทั้งจากนักเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายค้าน ผู้ว่าแบงก์ชาติ สภาพัฒน์ฯ รวมกระทั่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเป็นประธาน ต่างเห็นสอดคล้องตรงกันว่า เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤติ แต่ได้เริ่มฟื้นตัวแล้ว

แต่ถึงแม้จะมีการอ้างเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขให้รัฐบาลสามารถออกพระราชบัญญัติกู้เงินมาใช้ในโครงการนี้ได้ โดยเฉพาะเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ และเป็นวิกฤติต่อเนื่อง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เหตุผลที่มีความสำคัญมาก คือนอกจากเป็นนโยบายเรือธงในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้ว ยังมีสาเหตุจากเรื่องแรงกดดันในพื้นที่โดยประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทย ที่หวังจะเห็นเป็นจริงในทางปฏิบัติด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ต่างจังหวัดของนายเศรษฐาหลายครั้ง หลายจังหวัดที่ผ่านมา จะปรากฎคำทวงถามและป้ายเรียกร้องดิจิทัลวอลเล็ต ให้เห็นแทบทุกครั้ง

แต่ที่หนักกว่านั้น คือการลงพื้นที่ของ สส. ต่างเจอกับการทวงถามจากประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นความหนักใจของ สส.เหล่านี้ หลังจากพยายามพูดมาตลอดว่า เงินดิจิทัล คนละ 1 หมื่นบาท รัฐบาลแจกให้แน่นอน แต่ในทางปฏิบัติกลับเลื่อนแล้วเลื่อนอีก

ทำให้มีข่าวปูดจากวงในว่า ปัญหานี้ สส.ได้สะท้อนให้แกนนำในพรรคเพื่อไทย รับทราบตลอด แต่ไม่ได้รับคำตอบ และว่ากันว่า มีปรับทุกข์กันบ่อย ๆ ในกลุ่ม สส.ของพรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน มี สส.หลายคนของพรรคเรียงหน้าออกมาตอบโต้ฝ่ายที่คัดค้านโครงการนี้ รวมทั้งนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ ว่าเป็นคนรวยด้อยค่าคนจน กลัวพรรคจะได้เสียงชื่นชมมากขึ้นก็มี

ล่าสุด น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย ลูกสาวนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีต สส.9 สมัย และเป็นสะใภ้ ตระกูลอมรวิวัฒน์ ออกโรงยืนยันว่า ประชาชนรากหญ้าคาดหวังกับโครงการนี้มาก และพูดชัดเจนว่า มีประชาชนเรียกร้องเข้ามาทุกวัน จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเร่งผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรม มากขึ้น

แต่หากครั้งนี้ นโยบายเรือธงอย่างดิจิทัลวอลเล็ต เดินหน้าต่อไม่ได้ จะสุ่มเสี่ยงถึงขั้นมีสิทธิ์สอบตกระนาว ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

จึงจำเป็นต้องใส่เกียร์เดินหน้า ไม่ใส่เกียร์หยุด หรือใส่เกียร์ถอยหลัง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง