1 ปี หลังพายุดีเปรสชั่น : ฟังเสียงจากพื้นที่ “รูสะมิแล” อ.เมือง จ.ปัตตานี อะไรที่เปลี่ยนไป ?

7 ธ.ค. 54
15:52
32
Logo Thai PBS
1 ปี หลังพายุดีเปรสชั่น : ฟังเสียงจากพื้นที่ “รูสะมิแล” อ.เมือง จ.ปัตตานี อะไรที่เปลี่ยนไป ?

หมู่บ้านรูสะมิแล  ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี  เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุพายุดีเปรสชั่นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว  เพราะสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเล และอยู่บริเวณแนวปากแม่น้ำปัตตานี ทำให้บ้านเรือนบริเวณนั้นได้รับความเสียหายจำนวนมาก ตอนนี้ผ่านมากว่า 1 ปีแล้วคนในชุมชนได้ปรับตัวและเตรียมการเฝ้าระวังสถานการณ์โดยนำประสบการณ์จากปีที่แล้วมาจัดการดูแลตัวเองก่อนเบื้องต้นเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น  
               
กว่า 1 ปีแล้วที่ มารีแย เจ๊ะและ ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี  ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านหลังใหม่  หลังจากที่บ้านของเธอและเพื่อนบ้านได้รับความเสียหายอย่างหนักจากพายุดีเปรสชั่นถล่มอ่าวปัตตานีเมื่อปลายปีที่แล้ว  

 “ปีที่แล้วไม่ได้อยู่ที่บ้านในวันที่พายุเข้า เพราะไปคลอดลูกชายที่โรงพยาบาล แต่กลับมาสภาพบ้านเรือนก็เสียหายหมดเลย ของไปหมด ไม่มีอะไรเหลือ บ้านที่สร้างใหม่หลังนี้ก็มาอยู่ได้เกือบหนึ่งปีแล้ว ทางราชการ ทหารมาสร้างให้ ส่วนข้าวของในบ้านทั้งหมดก็ซื้อมาใหม่ทั้งหมด เพราะตอนนั้นลมพายุพัดมาแทบไม่เหลืออะไรเลย”  มารีแย เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น 
              
มารีแย เล่าต่อว่า ช่วงมรสุมในปีนี้เธอและเพื่อนบ้าน ได้รับฟังและดูข่าวสารเตือนภัยจากโทรทัศน์อยู่เสมอ  เธอบอกว่าถ้ามีเหตุการณ์เหมือนปีที่แล้ว สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคืออพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยเท่านั้น  เพราะยังไม่ทราบข้อมูลการเตือนภัยจากในพื้นที่มากนัก
             
 “เขาว่ามรสุมจะมาวันที่สองแต่ยังไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ถ้าน้ำมาก็คงอพยพเพียงอย่างเดียว ตอนนี้ยังไม่มีใครในพื้นที่มาบอกให้เตรียมการอย่างไร  แต่ได้คุยกับเพื่อนบ้านละแวกนี้เหมือนกันเรื่องข่าวมรสุมจะมา ให้เตรียมตัวระวังไว้ ถ้าเหตุการณ์ไม่ดีก็อพยพไปอยู่ที่มัสยิด”

 เช่นเดียว ลียะห์  สาและ ชาวบ้านม.1 ต.รูสะมิแล  จ.ปัตตานี  เธอเล่าว่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่แล้ว ว่า ปีที่แล้วลมพายุพัดมาแรงมาก  ฝนตกหนัก  แบบไม่เคยเจอมาก่อน   ทำให้ตอนนี้ถ้าเกิดฝนตกติดต่อกัน สองถึงสามวันก็จะเริ่มไม่สบายใจ ต้องออกมาดูสถานการณ์อยู่เป็นระยะ ถ้าเห็นสถานการณ์ไม่ดีก็อพยพไปอยู่บ้านญาติบริเวณใกล้เคียง 

ลียะห์ เล่าต่อว่า   ปีนี้ทางจังหวัดได้มาตั้งหอกระจายข่าวเพื่อที่จะเตือนภัยให้กับคนในชุมชน แต่เธอก็ไม่ได้หวังที่จะพึ่งข้อมูลข่าวสารจากหอกระจายข่าวแต่เพียงอย่างเดียว ได้เตรียมข้าวของไว้ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์  

 “ปีที่แล้วอพยพมาอยู่ที่อนามัย พอพายุที่พัดมาคราวที่แล้วมาพร้อมกับโคลน กว่าจะเข้าบ้านได้ต้องล้างบ้านพร้อมกับซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย หลังจากเกิดเหตุครั้งที่แล้วหน่วยงานในพื้นที่ได้มาตั้งหอกระจายข่าว เพื่อเตือนภัยเวลาเกิดเหตุในชุมชนเพิ่งมาสร้างได้ไม่กี่เดือน  แต่ช่วงนี้ยังไม่ได้ใช้งาน อยู่ในช่วงทดลองใช้ ซึ่งทางคนนำในพื้นที่เองก็ไม่ได้รอข้อมูลจากหอกระจายข่าวเพียงฝ่ายเดียว เพราะเกรงว่าถ้าเกิดขัดข้องทางเทคนิคจะเตรียมการต่างๆ ไม่ทัน  ตอนนี้เริ่มเตรียมข้าวสาร อาหารแห้งไว้แล้วบ้างแล้ว”

 ในปีนี้หลายคนยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ภัยธรรมชาติในพื้นที่จะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ทำได้คือเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารพร้อมกับสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และเตรียมการจัดการดูแลตัวเองก่อนเบื้องต้นเพื่อที่จะลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง