เปิดตัวกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ “ค้าน” แก้ม.112

การเมือง
13 ม.ค. 55
08:08
18
Logo Thai PBS
เปิดตัวกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ “ค้าน” แก้ม.112

คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันนิด้า เปิดตัวกลุ่มนักวิชาการในนามกลุ่ม สยามประชาภิวัฒน์ ที่มีจุดยืนในการคัดค้านการแก้ไข รธน. และมาตรา 112

รศ.บรรเจิด สิงคะเนติ  คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดตัวกลุ่มนักวิชาการจาก 8 สถาบันอุดมศึกษาในนามกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ มีจุดยืนในแนวทางคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขประมวลกฏหมาอาญามาตรา 112 โดยหลักคิดคือให้คุณค่าสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เอาแบบอย่างสังคมตะวันตก และไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่ออยู่ฝ่ายตรงข้ามกับคณะนักวิชาการในนามกลุ่มนิติราษฎร์

ขณะที่กลุ่มนิติราษฎร์ กำหนดการรณรงค์การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันอาทิตย์ที่ 15 ม.ค. ซึ่งจะมีองค์กรเครือข่ายหลายองค์กรเข้าร่วมเสวนา โดยส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม นปช.ร่วมกันรณรงค์ออกแถลงการณ์ และจะมีการวิพากษ์มาตรา112 ว่าทำไมจึงต้องแก้ไขรวมถึงล่ารายชื่อประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตราดังกล่าว

ด้านนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี นัดชุมนุมบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6  ด้านหน้าสวนลุมพินีในวันนี้ (13 ม.ค.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลป้องกันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ ในการชุมนุมได้ตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อประชาชน โดยจะรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้มากกว่า 20,000 รายชื่อ เพื่อนำไปยื่นคัดค้านการแก้ไขกฎหมายต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับกลุ่มนิติราษฎร์ปลายเดือนมกราคมนี้ และจะตั้งเวทีปราศรัยใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันอาทิตย์ที่ 15 ม.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันที่มีการณรงค์ของกลุ่มนิติราษฎร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขณะที่กลุ่มข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่งกำหนดการอบรมข้าราชการบรรจุใหม่ร้องเรียนมายังสื่อมวลชนว่า ในวันที่ 13-14 ม.ค.นี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯ ได้จัดอบรมปฐมนิเทศข้าราชการบรรจุใหม่ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน โดยเชิญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกลุ่มนิติราษฎร์ เช่น นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล มาเป็นวิทยากร ซึ่งกลุ่มข้าราชการเห็นว่าไม่เหมาะสมเนื่องจากนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์มีแนวคิดจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112  ซึ่งถือเป็นการขัดแย้งกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ.2554 มาตรา 37 (3) ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญว่า ต้องเป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง