พื้นที่รับน้ำ 5 แห่งที่กรมชลฯ กำหนดไม่เพียงพอที่จะรับน้ำได้ทั้งหมด

Logo Thai PBS
พื้นที่รับน้ำ 5 แห่งที่กรมชลฯ กำหนดไม่เพียงพอที่จะรับน้ำได้ทั้งหมด

พื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติทั้ง 5 แห่งตามแผนกรมชลประทาน มีพื้นที่กว่า 230,000 ไร่ แต่การกำหนดพื้นที่รับน้ำตามที่ กยน.กำหนดต้องให้ได้อย่างน้อย 2,000,000 ไร่ จึงไม่เพียงพอที่จะรับน้ำได้ทั้งหมด คาดว่าบางพื้นที่ยังเกิดน้ำท่วมอีก

แผนเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ข้อหนึ่งมีการกำหนดให้มีพื้นที่รับน้ำในฤดูน้ำหลากในปีนี้ให้ได้อย่างน้อย 2,000,000 ไร่ ทั้งนี้จะต้องมีการสำรวจพื้นที่ และเจรจากับชาวบ้านเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงทำให้ยังไม่สามารถกำหนดพื้นที่ได้แน่ชัด แต่จากการสำรวจของกรมชลประทานพบว่า ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางมีพื้นที่แอ่งกระทะทีเหมาะจะเป็นพื้นที่รับน้ำอยู่ 5 แห่ง

พื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติทั้ง 5 แห่ง ตามแผนกรมชลประทาน คือ ทุ่งเชียงรากในจังหวัดสิงห์บุรี, ทุ่งบางกุ่มในจังหวัดสระบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ทุ่งวัดอุโลมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ทุ่งบางกุ้งในจังหวัดอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา และทุ่งท่าวุ้ง ในจังหวัดลพบุรี ทั้ง 5 ทุ่ง มีพื้นที่กว่า 230,000 ไร่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับน้ำได้ทั้งหมด ซึ่งคาดว่ายังจะเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่อยู่

ขณะที่ชาวนาหลายตำบลในทุ่งท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ที่กำลังเริ่มต้นปลูกข้าวเป็นครั้งแรก หลังเพิ่งถูกน้ำท่วมมานานกว่า 3 เดือนเมื่อปีที่ผ่านมาบอกว่า ถ้ารัฐบาลจะกำหนดให้ทุ่งท่าวุ้งเป็นพื้นที่รับน้ำก็ควรให้ความเป็นธรรมกับชาวนาด้วย

ขณะนี้รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถประกาศพื้นที่รับน้ำให้ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากเจรจากับชาวบ้านในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนายกรัฐมนตรี และกรรมการ กยน. เตรียมลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาของชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง