เครือข่ายน้ำยม เสนอทางออกแก้น้ำท่วมไม่ต้องสร้าง "แก่งเสือเต้น"

ภูมิภาค
20 ก.พ. 55
08:11
27
Logo Thai PBS
เครือข่ายน้ำยม เสนอทางออกแก้น้ำท่วมไม่ต้องสร้าง "แก่งเสือเต้น"

นายประสิทธพร กาฬอ่อนศรี ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำยม กล่าวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ขณะนำสื่อมวลชน และคณะโครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำรวจพื้นต้นน้ำยม เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อรัฐบาลว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างยั่งยืนนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเลย ทั้งนี้ชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำยม ทั้งยมบนและยมล่าง พยายามเสนอรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นว่า การแก้ปัญหาสามารถทำได้โดย 1.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศให้กลับคืนมาสมดุล ยั่งยืน โดยเน้นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเป็นวาระแห่งชาติ

2.ผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำชุมชน ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ โดยใช้แนวทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน มองปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยมีชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาแผนการจัดการน้ำแต่ละชุมชน               

 3.แผนการเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา กรณีของลุ่มน้ำยมนั้นมีลำน้ำสาขาถึง 77 สาขา ซึ่งสามารถผลักดันให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดกลางประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยใช้งบประมาณอ่างละไม่เกิน 300 ล้านบาท รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม ที่จัดทำโดยกรมการปกครอง แผนการดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วประมาณ 3 ล้านบาท ต่อหมู่บ้านเท่านั้น

4.แผนการเก็บกักน้ำ 1 ตำบล 1 แหล่งเก็บกักน้ำในกรณ๊ลุ่มน้ำยมมีอยู่ 98 ตำบล ใช้งบประมาณไม่เกินแหล่งละ 5-10 ล้านบาท แผนงานนี้จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชนไม่มากนัก แต่จะมีประโยชน์ต่อชุมชนเต็มที่               

5.การขุดลอกตะกอนสามารถทำให้แม่น้ำกลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายน้ำออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปนอกเขตชุมชน               

นายประสิทธิพร กล่าวว่า การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยมสามารถทำได้โดยการขุดลอกคูคลองเชื่อมโยงระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง ยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนอย่างน้อยสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด การแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น เหมาะกับพื้นที่ การหยุดสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตราบลุ่มแม่น้ำยม สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับระบบนิเวศและยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมา เนื่องจากแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักไม่ให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าความจุของน้ำในแก่งเสือเต้นอีก               

“ต้องสนับสนุนให้เกิดฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ บ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมถึงระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้ชาวบ้านอย่างแท้จริง ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาแม้จะมีเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น ลุ่มน้ำปิงมีเขื่อนภูมิพล ลุ่มน้ำวังมีเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา ลุ่มน้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์ แต่ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมกลับทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ข้ออ้างที่ว่าหากมีเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยม อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือเขื่อนยมบน ยมล่างจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ไม่ใช่เรื่องจริง ในทางกลับกันเขื่อนขนาดใหญ่จะนำไปสู่การทำลายป่าสักธรรมชาติผืนสุดท้าของประเทศอีกกว่า 24,000ไร่ ป่าเบญจพรรญอีก36,000 ไร่”นายประสิทธิพร กล่าว               

ด้านโครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้นำคณะผู้สื่อข่าวไปสำรวจพื้นที่บ้านน้ำปุก อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านรวมตัวกันสร้างฝายน้ำปุก ซึ่งเป็นฝายน้ำล้น โดยบรรพบุรุษของคนในพื้นที่นี้สร้างมาแล้วกว่า 120 ปี มีการพัฒนาซ่อมแซม และช่วยกันดูแล มาจนถึงทุกวันนี้ โดยฝายน้ำปุกเป็นวิธีบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืนของชาวบ้านที่ได้รับความร่วมมือจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างดี ฝายแห่งนี้สามารถชะลอการไหลของน้ำหลาก แก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ โดยผู้อาวุโสในพื้นที่บอกว่าอยากให้หลายๆพื้นที่มาดูเรื่องระบบการจัดการน้ำโดยสร้างฝายที่นี่ ถือเป็นการจัดการน้ำที่ยั่งยืนดีกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มาก

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง