ตะลึง! ขยะเกลื่อนแปลงหญ้าทะเลจุด "มาเรียม" ตาย

ตะลึง! ขยะเกลื่อนแปลงหญ้าทะเลจุด "มาเรียม" ตาย

ตะลึง! ขยะเกลื่อนแปลงหญ้าทะเลจุด "มาเรียม" ตาย

รูปข่าว : ตะลึง! ขยะเกลื่อนแปลงหญ้าทะเลจุด "มาเรียม" ตาย

ผลักดันแผนพะยูนแห่งชาติ เพิ่มประชากรอีก 50%ใน 10 ปี นำร่องร่วม 12 ชุมชนร่วมอนุรักษ์ เดินหน้ามาเรียมโปรเจ็กต์ ต้นแบบลดขยะลงทะเล นักวิชาการเรียกร้องแบนถุงพลาสติกทันที ทีมอาสาสมัครเก็บหญ้าทะเล ตะลึง เจอขยะพลาสติกในแปลงหญ้าทะเลตกค้างเกาะลิบง จ.ตรัง

วันนี้ (19 ส.ค.2562) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก เรียกประชุมคณะทำงานครั้งแรก หลังกรณีมาเรียม ลูกพะยูนอายุ 8 เดือนตายหลังจากนำมาเลี้ยงดูได้แค่ 4 เดือน และผลชันสูตรเจอเศษถุงพลาสติกขนาดเล็กๆ รวม 8 ชิ้นซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มาเรียมตาย 

ทั้งนี้สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย ทีมสัตวแพทย์ที่ดูแลมาเรียม ได้นำภาพถ่ายที่ยังพบว่าแปลงหญ้าทะเลที่หมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ที่เป็นพื้นที่มาเรียมไปหากินหญ้าทะเล ที่ถ่ายโดยน.ส.ณัฐนิช พานิชภักดิ์ อาสาสมัคร เก็บหญ้าทะเล มาโชว์ให้สื่อมวลชนดูว่าจากการเข้าไปเก็บหญ้าทะเลที่หมู่เกาะลิบง จ.ตรัง เพื่อนำไปให้ยามีลกิน กลับพบว่ามีขยะตกค้างในแปลงหญ้าทะเลจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ยังเป็นถุงพลาสติกปะปนอยู่

ทีมอาสาสมัครไปเก็บหญ้าทะเลให้ยามีลหลังจากมาเรียมไม่อยู่ และสังเกตว่าแหล่งหญ้าทะเลที่เกาะลิบง มีพลาสติกปะปนอยู่ ซึ่งก่อนหน้าไม่ได้สังเกตมาก่อน บ่งชี้ว่ามีขยะพัดไปถึงจุดหากินของพะยูน จากนี้จะต้องลงไปเก็บออกจากแปลงหญ้าทะเลไม่ให้เป็นอันตรายกับพะยูนตัวอื่น

 

แผนเพิ่มพะยูน-นำร่องเลิกเครื่องมือประมง

ด้านนายปิ่นสักก์ กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (ทส.) มอบหมายให้ ทช.จัดทำแผนการอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ มีเป้าหมายเพิ่มพะยูนในไทยให้ได้อีก 50% ภายใน 10 ปีจากข้อมูลรายงานทะเลไทย มีประชากรพะยูน 250 ตัวกระจายในพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง กระบี่ พังงา รวมทั้ง จ.ระยอง หรือเพิ่มเป็น 375 ตัว โดยให้ใช้บทเรียนจากมาเรียมที่คนทั้งประเทศได้ให้ความรัก ความหวังกับการเลี้ยงดูมาเรียม และตายจากการกินขยะพลาสติกจะต้องไม่ตายฟรี

 

นอกจากนี้จะผลักดันให้ถอดบทเรียนลิบงโมเดล ไปใช้ในพื้นที่อืนอีก 12 แห่ง เพื่ออนุรักษ์พะยูนร่วมกับชุมชน ได้แก่เกาะพระทอง จ.พังงา อ่าวพังงา เกาะศรีบอยา จ.กระบี่ เกาะลิบง เกาะมุกต์ จ.ตรัง เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จ.สตูล เกาะกูด เกาะหมาก เกาะกระดาน จ.ตราด อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ปากน้ำประแส จ.ระยอง อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี อ่าวสัตหีบ จ.ระยอง อ่าวปัตตานี จ.ปัตตานี

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการดึงชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ การเลิกเครื่องมือประมงที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากเสี่ยงตาย โดยมีเป้าหมายที่จะลดการตายของพะยูนจากเครื่องมือประมงให้ไม่เกินร้อยละ 45 ทำแผนที่พะยูนโมเดล อนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล 

 

ผลักดันมาเรียมโปรเจ็กต์ แก้ขยะทะเล 

ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า หนึ่งในแผนที่สำคัญคือมาเรียมโปรเจ็กต์ เพื่อใช้เป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะลงทะเล ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากตาย ซึ่งจากการที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เก็บข้อมูลด้วยในการเดินเก็บขยะ 50 เมตร พบแก้วใช้แล้วทิ้งกว่า 1,800 ใบ พบหลอดเกือบ 1,200 ชิ้น แน่นอนว่าร้อยละ 80 ของขยะทะเลไม่ได้เกิดที่ทะเลและริมฝั่ง แต่มาจากแผ่นดินไหลตามแม่น้ำลำคลองลงสู่ลงทะเล 

ไม่อยากทำให้มาเรียมตายฟรี เป้าหมายผลักดันให้มีวันพะยูนแห่งชาติวันที่ 17 ส.ค.ของทุกปี โดยจะเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อต้านขยะทะเล และสร้างความรักของเด็กๆ และพะยูน และการตั้งกองทุนมาเรียม เพื่อระดมทุนในการใช้วิจัย และการอนุรักษ์ในพื้นที่ 

 

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า  พะยูนโมเดลจะมี จ.ตรังเป็นหัวหอก และกำลังทำให้พะยูนตายจากเครื่องมือประมงลดลงจาก ร้อยละ 90 เป็นแค่ร้อยละ 45 ในเขตอุทยานแห่งชาติจะต้องไม่เกินร้อยละ 20 โดยชาวบ้านอยู่ได้ พะยูนอยู่รอด  ทั้งนี้แผนพะยูนแห่งชาติ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการสัตว์ทะเลหายาก ทำเสน็จแล้วจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานตามขั้นตอน 

นอกจากนี้ยังเสนอว่าต้องก้าวไปในการผลักดันเร่งรัดการแบนพลาสติก จากเดิมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตั้งเป้าหมายในปี 2565 โดยเห็นว่าควรต้องเริมทำได้ทันที เพราะหลายประเทศก็ทำสำเร็จแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ที่ประชุมได้สรุปสถานการณ์สัตว์ทะเลเกยตื้นตายของปี 2562 รวมแค่ 10 เดือนมีสัตว์ทะเลเกยตื้นรวมกัน 738 ตัว โดยจำนวนนี้มีพะยูน 16 ตัว ซึ่งรวมมาเรียม อายุ 8 เดือน และพะยูนตัวเมียความยาวกว่า 2 เมตรตัวล่าสุดที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ส่วนเต่าทะเลตายจำนวน 488 ตัว ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่าทุกปี 

ขณะที่การเก็บสถิติเฉพาะโลมาและวาฬเกยตื้น มีจำนวน 250 ตัว จำนวนนี้ตาย 238 ตัว หรือร้อยละ 98 ส่วนอีก 12 ตัวรอดตายหรือร้อยละ 2 เท่านั้น สาเหตุอันดับแรกมาจากการติดเครื่องมือประมงร้อยละ 55 ขยะทะเล ร้อยละ 21 และป่วยตายตามธรรมชาติร้อยละ 14

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

อาบน้ำครั้งสุดท้าย! ส่งซาก "มาเรียม" ถึง อพวช.เตรียมสตัฟฟ์ 

เศร้า! มาเรียมลูกพะยูนขวัญใจตาย “ช็อก-เจอถุงพลาสติก”

ชันสูตร "มาเรียม" ติดเชื้อในกระแสเลือด หลังพลาสติกอุดตันลำไส้

  

 

กลับขึ้นด้านบน