“สนามหลวง” โบราณสถานสู่พื้นที่ชุมนุมการเมือง

การเมือง
18 ก.ย. 63
12:34
3,435
Logo Thai PBS
“สนามหลวง” โบราณสถานสู่พื้นที่ชุมนุมการเมือง
ทำความรู้จักทุ่งพระเมรุ หรือ "สนามหลวง" โบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2520 จากจุดเปลี่ยนผ่านอดีตจนถึงปัจจุบัน และกำลังถูกปักหมุดหมายทางการเมืองอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ย.นี้
สนามหลวงได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งปี 2520 หากเข้ามาใช้พื้นที่ อาจจะถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายได้ รวมถึงการเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล หากมีการบุกรุกสถานที่ ก็ผิดกฎหมายเช่นกัน

ถ้อยความของ พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เตือนการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้ ว่าการใช้พื้นที่ล่วงล้ำจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มาที่สนามหลวง เข้าข่ายการบุกรุกโบราณสถาน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พบว่าเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2560 ประกาศโดยกรมศิลปากร เรื่องขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เนื้อหาระบุว่าอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2505 กรมศิลปากร จึงประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา ประกาศ ณ วันที่ 24 ต.ค.2520 โดยนายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากร

 

ขณะที่ยังพบว่าราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนพิเศษ 180 ง วันที่ 26 พ.ย.2555 ระบุว่าการใช้พื้นที่สนามหลวงในข้อ 6 ระบุว่า พื้นที่ท้องสนามหลวง เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และการออกกำลังกาย ตามวันเวลาที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกรุงเทพมหานครประกาศ กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร อาจประกาศกำหนดเงื่อนไขการใช้พื้นที่ ซึ่งอาจรวมถึงการห้ามเล่นกีฬาบางชนิดหรือบางประเภท การห้ามนำสัตว์หรือสิ่งของบางชนิดหชหรือบางประเภทเข้ามาในพื้นที่สนามหลวง และการไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นเกินสมควรตามวิสัยและพฤติการณ์

ทั้งนี้ยังระบุว่าในข้อ 7 ให้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวง เพื่อการจัดงาน คือ งานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานประเพณีสำคัญของชาติโดยหน่วยงานของรัฐ และการจัดการแข่งขันกีฬาไทยประจำปี

โดยกำหนดว่า ผู้รับผิดชอบจัดงานต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังนี้จัดงานในพื้นที่ที่กำหนด ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับกรุงเทพมหานคร หรือตามที่ได้รับอนุญาต แล้วแต่กรณี ควบคุมและดูแลบริเวณงานให้มีความสะอาดอยู่เสมอ ไม่มีการทิ้งสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย ไม่มีการเล่นการพนันหรือกระทำการขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือวัฒนธรรมประเพณีไทย

อ่านข่าวเพิ่ม เตือนบุกรุก "สนามหลวง" โบราณสถาน-สถานที่ราชการผิดแน่

ท้องสนามหลวง อดีตสู่ปัจจุบัน

ในอดีตสนามหลวง ถูกใช้เป็นพื้นที่เชิงสัญญลักษณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะช่วงพ.ศ. 2516-2519 ข้อมูลจากเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า วันที่ 6 ต.ค.2519  เป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ได้เกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใจกลางพระนคร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 39 คน และบาดเจ็บ 145 คน

การก่อการสังหารครั้งนี้ได้กลายเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ การก่อกรณีนองเลือดครั้งนี้ ไม่มีการจับกุมฆาตกรผู้ก่อการสังหารเลยแม้แต่คนเดียว ในทางตรงข้ามนักศึกษาประชาชนที่เหลือรอดจากการถูกสังหารจำนวน 3,094 คน กลับถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนั้นเอง และถึงแม้ว่าในระยะต่อมา ผู้ถูกจับกุมจะได้รับการประกันตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายก็ยังมีเหลืออีก 27 คน ถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี เป็นชาย 23 คน และหญิง 4 คน จนท้ายที่สุด จะเหลือ 19 คน ซึ่งตกเป็นจำเลย ถูกคุมขังและดำเนินคดีอยู่เกือบ 2 ปีจึงจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนผู้ก่อการสังหารซึ่งควรจะเป็นจำเลยตัวจริงนั้นไม่มีรัฐบาลหรือผู้กุมอำนาจครั้งไหนกล่าวถึงอีกเลย แม้กระทั่ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยที่ปล่อยผู้ต้องหา 6 ตุลาฯ ทั้ง 19 คนนี้ก็ได้กล่าวว่า “แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ” เหมือนกับว่าจะให้ลืมกรณีฆาตกรรมดังกล่าวเสีย มิให้กล่าวถึงคนร้ายในกรณีนี้อีก

 

เงื่อนงำของการสังหารโหดนี้ได้รับการคลี่คลายในตัวเองขั้นหนึ่งในเย็นวันนั้นเอง เมื่อคณะทหารกลุ่มหนึ่งในนามของ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจล้มเลิกการปก ครองในระบอบประชาธิปไตย ล้มรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางรัฐสภาและฟื้นระบอบเผด็จการขวาจัดขึ้นมาปกครองประเทศแทน ถ้าหากว่าการสังหารหมู่เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม คือการก่ออาชญากรรมต่อนักศึกษาผู้รักความเป็นธรรมแล้ว การรัฐประหารเมื่อเย็นวันที่ 6 ตุลาคมก็คือ การก่ออาชญากรรมต่อประเทศชาติ เพราะเป็นการทำลายสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนทั้งชาติ ที่ได้มาจากการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชน 14 ต.ค. 2516 เมื่อโยงการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ครั้งนี้เข้ากับการสังหารโหดที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน จะทำให้มองเห็นภาพการเคลื่อนไหวของพลังปฏิกิริยาที่ร่วมมือกันก่ออาชญากรรมได้ชัดเจนขึ้น

ต่อมาในปี 2553 สนามหลวง ยังถูกใช้เป็นพื้นที่การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มีเป้าหมายในการโค่นรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งนัดรวมพลเมื่อ 14 มี.ค.2553 เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยอีกครั้ง

จับตา 19 ก.ย.63 จุดพลิก 

กรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ตำรวจเตรียมใช้แนวทางตามแผนกรกฎ 52 พร้อมปรับกำลังตามสัดส่วนของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งยังไม่สามารถประเมินจำนวนได้ โดยต้องประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน

เบื้องต้นคาดว่าจะมีการชุมนุมใน 3 พื้นที่ คือ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แม้ล่าสุดจะมีการประกาศห้ามใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย สนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยตำรวจจะมีการจัดจุดคัดกรองตรวจโรค และตรวจค้นอาวุธจำนวน 4 จุด โดยรอบพื้นที่การชุมนุม และขอให้ผู้ชุมนุมและผู้จัดการชุมนุมให้ความร่วมมือด้วย พร้อมแสดงความเป็นห่วงในเรื่องของเส้นทางจราจรที่อาจกระทบประชาชนทั่วไป โดยจะมีการออกประกาศเส้นทางเลี่ยงในภายหลัง

 

ในประเด็นเรื่องการห้ามใช้พื้นที่สนามหลวง เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี

เขาเสนอให้รัฐบาลเพิกถอนการขึ้นทะเบียนโบราณสถานสนามหลวง และยกเลิกระเบียบที่ไม่จำเป็นในการดูแลสนามหลวง โดยเปลี่ยนพื้นที่นี้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานสถานแห่งชาติ มาตรา 4 นิยามให้ "โบราณสถาน หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อ สร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์ เป็นประโยชน์ในทางศิลปะประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทั้งนี้ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย

สนามหลวง เป็นพื้นที่โล่งกว้างที่ไม่มีศิลปะวัตถุหรือโบราณวัตถุอันเข้านิยามของ พ.ร.บ.นี้ อีกทั้งพื้นที่นี้ยังเป็นที่สาธารณประโยชน์มาอย่างยาวนาน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ธรรมศาสตร์" กับการปฏิรูป ผ่าประเด็นร้อนก่อนชุมนุม 19 ก.ย.นี้

กทม.ยืนยันห้ามชุมนุม "สนามหลวง" ให้ใช้ออกกำลังกายเท่านั้น

ตร.คุมเข้ม 3 จุด ยึดแผนกรกฎ 52 รับมือชุมนุม 19 ก.ย.

"ศิโรตม์" แนะทางออก ม็อบการเมือง "การชุมนุม ≠ ความรุนแรง"

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง