สธ.เตือน "ดื่มฉี่รักษาโรค" อาจทรุดมากกว่าทรง

สังคม
27 ส.ค. 62
10:11
841
Logo Thai PBS
สธ.เตือน "ดื่มฉี่รักษาโรค" อาจทรุดมากกว่าทรง
สธ.ย้ำไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ "ดื่มปัสสาวะรักษาโรค" เสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อน แนะยาที่สามารถรักษาโรค คือการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติของร่างกายให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง

วันนี้ (27 ส.ค.2562) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากที่มีกลุ่มบุคคลเปิดเผยตนเอง ว่า ดื่มน้ำปัสสาวะเป็นประจำแล้วรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น จึงเกิดกระแสตื่นตัวทางโลกออนไลน์ขึ้นว่าการดื่มน้ำปัสสาวะเสมือนยาอายุวัฒนะ บำบัดโรคร้ายได้นั้น แต่สำหรับความจริงแล้วการใช้น้ำปัสสาวะบำบัดไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์และคลินิกที่น่าเชื่อถือรองรับ หากนำมาใช้โดยไม่ระวังอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงมีทางเลือกในการรักษาโรคหลากหลายช่องทาง

ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือก ดังนั้นจึงควรตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพการรักษาเป็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายมุ่งเน้นทางด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูภาวะความเจ็บป่วย โดยมีโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางแก่ประชาชนอยู่ทั่วประเทศ จึงอยากให้ประชาชนเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในโรงพยาบาลในพื้นที่ เพราะการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นวิธีการรักษาโรคที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากกว่าทางเลือกอื่น

วิธีรักษาโรคที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด ไขมันสูง กินผัก และผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ตรวจสุขภาพประจำปี

ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติของร่างกาย ต้องรีบพบแพทย์ใกล้บ้านและรักษาและปฏิบัติตัวภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า น้ำปัสสาวะเป็นของเสียหรือสารที่เป็นส่วนเกินของร่างกายที่ไตขับออกมา แม้ว่าจะมีสารต่าง ๆ อยู่มาก ทั้งยูเรีย เกลือแร่ แคลเซียม และโซเดียมคลอไรด์ แต่สารเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกินความต้องการของร่างกาย หากสะสมไว้มากเกินไปกลับจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด หัวใจวาย ร่างกายจึงขับทิ้งตามระบบหากดื่มกลับเข้าไปซ้ำอีกจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย

น้ำปัสสาวะที่ขับออกมาอาจปนเปื้อนอุจจาระ ทำให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่อย่างเชื้อบิด อาจติดต่อไปยังผู้อื่นที่นำน้ำปัสสาวะนั้นมาดื่ม

นอกจากนี้ ไตซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองของเสียออกจากร่างกาย ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพราะต้องขับของเสียออกซ้ำและอาจเกิดการคั่งค้างของสารต่าง ๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำ แร่ธาตุ และสารอาหารให้เหมาะสม อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยาวิเศษ! ครูอ้างให้เด็กดื่มฉี่กลั่นสมุนไพรแทนยาครึ่ง ชม.หายป่วย

ไขข้อข้องใจ! ฟังมุม "หมอโรคไต" เตือนก่อนคิดดื่มปัสสาวะ

มีเชื้อโรค! เตือนกินฉี่-ใช้ทาหน้าไร้ประโยชน์ น้อยกว่ากินข้าวหนึ่งคำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง