"พุทธิพงษ์" นัดสื่อเคลียร์ปมแอปฯ "หมอชนะ" ถอนตัวส่งไม้ต่อรัฐบาล

สังคม
17 ม.ค. 64
16:28
2,960
Logo Thai PBS
"พุทธิพงษ์" นัดสื่อเคลียร์ปมแอปฯ "หมอชนะ" ถอนตัวส่งไม้ต่อรัฐบาล
พรุ่งนี้ (18 ม.ค.) เวลา 13.45 น. "พุทธิพงษ์" นัดสื่อแถลงเคลียร์ข้อสงสัยแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" หลังทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ โพสต์เฟซบุ๊กส่งไม้ต่อให้รัฐบาลดูแลระบบ เพื่อใช้ในการแจ้งเตือน COVID-19

วันนี้ (17 ม.ค.2564) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เชิญสื่อมวลชนซักถามประเด็นข้อสงสัยเรื่องการดูแลระบบแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเวลา 13.45 น. ที่ห้อง walk the talk ชั้น 15 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

หลังจากเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา มีประเด็นในโซเชียล เฟซบุ๊ก “ทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team“ โพสต์ข้อความระบุว่า การเติบโตและความสำเร็จของ “หมอชนะ” เปลี่ยนผ่านจากแอปอาสาสมัคร เป็นแอปของภาครัฐเต็มตัว

ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความภูมิใจที่จะส่งมอบ แอปพลิเคชั่น หมอชนะ อันเกิดจากการริเริ่มบูรณาการของภาคประชาชนสู่ภาครัฐ ที่มีความครบสมบูรณ์ ในแนวทางการออกแบบ และกระบวนการในการใช้งานทุกอย่าง ดังที่ได้เคยนำไปใช้แจ้งเตือน อย่างได้ผลเป็นที่ประจักษ์ในปีที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ภาครัฐได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการควบคุมการระบาดอย่างมีประสิทธิผล

 

จากการระบาดของ COVID-19 ที่ถาโถมเข้ามาอย่างฉับพลัน การรวมตัวของจิตอาสาหลายสิบกลุ่มจึงก่อกำเนิดขึ้น แทนที่จะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพัฒนา ในวาระวิกฤตแห่งชาตินี้

พวกเราได้หันหน้ามาจับมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นำเอาจุดเด่นแต่ละไอเดีย มาบูรณาการร่วมมือกันภายใต้ทีม Code for Public โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาคเอกชนในนามกลุ่มช่วยกัน

ภาครัฐคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และจิตอาสาอิสระจำนวนมากมายรวมกว่าร้อยคนที่ทำงานมาร่วมกัน โดยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ช่วยเข้ามารับดูแลแอปหมอชนะอย่างเป็นทางการ

อ่านข่าวเพิ่ม รู้จัก "หมอชนะ" แอปฯ ลดโอกาสติดเชื้อ COVID โดยไม่ตั้งใจ

9 เดือนหมอชนะก่อนส่งต่อให้รัฐบาล 

กว่า 9 เดือนที่ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ ได้ร่วมกันออกแบบ หมอชนะ ของประชาชนโดยคำนึงถึงเป้าประสงค์หลักในการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยหลักการ สังคมช่วยดูแลซึ่งกันและกัน พวกเราได้เก็บรวบรวมความต้องการการใช้งานจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กรมควบคุมโรค หน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนที่มีความต้องการต่างๆกัน โดยทีมงานอาสาฯ มุ่งเน้นออกแบบเพื่อการใช้งานได้จริง และ คำนึงความเป็นส่วนตัว (data privacy) เป็นหลักการในการพัฒนามาตั้งแต่ต้น

ถึงเวลานี้หลายภาคส่วน ที่ร่วมกันต่อสู้กับโควิด จุดประกายแห่งความหวัง และมีกำลังใจ เมื่อรัฐบาลเห็นความจำเป็นในการติดตามประวัติการเดินทาง และตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่ใช้ได้จริง ในการติดตามผู้มีโอกาสสัมผัสได้รับเชื้อ หันมายอมรับและเลือกใช้แอปหมอชนะ เพื่อใช้ต่อสู้กับการระบาดอย่างรุนแรงของโควิดในรอบนี้


ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่งานที่ผ่านการทุ่มเทจากอาสาสมัครนับร้อย จะได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

พวกเราหวังว่า การที่แอปได้เปลี่ยนผ่าน ไปอยู่ในการดูแลของภาครัฐอย่างเต็มตัว น่าจะทำให้ประสิทธิภาพ การติดตามประวัติการเดินทางจากเดิม เป็นข้อมูลที่อาสาสมัครต้องค้นหาเอง

เป็นการที่ภาครัฐ และกรมควบคุมโรค จะเป็นผู้นำข้อมูลต้นทางที่แม่นยำครบถ้วนเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ระบบที่ถูกพัฒนามาพร้อมอยู่แล้ว ได้รับการนำมาใช้ในการตรวจสอบประวัติการเดินทาง และค้นหาผู้มีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อ เพื่อให้เกิดการแจ้งเตือนกับผู้ถือแอป รับรู้ถึงระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เพื่อให้กระบวนการควบคุมการระบาดเกิดความสมบูรณ์ครบวงจร

อ่านข่าวเพิ่ม ศบค.บังคับใช้ "หมอชนะ" ติดเชื้อเมินโหลดผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

 

เชื่อภาครัฐช่วยลดความสับสน-สื่อสาร 

นอกจากนี้ บริษัท ห้างร้าน อาคาร โรงงาน สถานประกอบการ ที่ได้ใช้ แอปหมอชนะ ในปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องมือช่วยบ่งชี้ความเสี่ยงของพนักงานหรือผู้มาติดต่อที่เข้ามาใช้สถานที่ผ่านการตรวจดูสีสถานะความเสี่ยงบนหน้าจอหมอชนะ ก็จะได้ความมั่นใจยิ่งขึ้นที่หมอชนะได้ถูกนำมาใช้ในวงกว้าง ในการให้การดูแลพนักงานและสถานที่

โดยอาศัยสถานะสี ช่วยแยกบุคคลผู้เสี่ยงออกจากกลุ่มคนส่วนใหญ่ การปฎิบัติคัดกรองและดูแลอย่างเหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลได้อย่างตรงจุด

เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อติดต่อระหว่างกัน และมุ่งให้กิจการยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ไม่ต้องกลับไปปิดล็อคดาวน์ทั้งหมดแบบที่เสียหายต่อเศรษฐกิจ และเราทุกคนไม่อยากจะเห็นซ้ำ

จากนี้ไป เรามีความมั่นใจว่า การที่แอปหมอชนะ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ จะทำให้เกิดความชัดเจนในการให้ข้อมูลและการสื่อสารที่ทรงพลังของรัฐ อย่างเป็นทางการเพียงเสียงเดียว จะสามารถตอบคำถามความสงสัย ลดความสับสน

เป็นไปด้วยความถูกต้องคำนึงถึง privacy ของประชาชนอย่างมีธรรมภิบาลและทำให้ทุกคนในประเทศมีความสบายใจ และมั่นใจที่จะร่วมกันให้ความร่วมมือใช้งานแอปหมอชนะ ในการต่อสู้วิกฤตินี้ด้วยกัน อย่างพร้อมเพรียง

ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ ยังคงพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลต่อไป และยินดีช่วยเหลือรัฐบาลอย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อดูแลให้คนไทยผู้ใช้แอปได้ปลอดภัยจากโรค และได้ประโยชน์สูงสุดเป็นที่ตั้งตามเจตนารมณ์

 

อ่านข่าวเพิ่ม วิธีใช้แอปฯ “หมอชนะ” เตือนภัยโควิด-19 รู้ก่อนเสี่ยง เลี่ยงก่อนติด

ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางการพัฒนาในอนาคตเป็นไปอย่างมีเอกภาพ และเป็นไปตามแนวทางนโยบาย ยุทธวิธีต่อสู้กับโรคของภาครัฐ และเพื่อป้องกันความสับสนของสาธารณะ

หากผู้ใช้ทุกคนที่อาจมีข้อแนะนำ หรือความต้องการในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในฟังก์ชัน แนวความคิดที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแอปหมอชนะ ในแง่มุมใด ขอให้ท่านส่งตรงไปยังหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบแอปหมอชนะต่อไป เพื่อให้ได้รับการพิจารณา โดยผู้ที่ได้รับมอบหมายได้ตัดสินใจตามสมควร

และหากมีความเปลี่ยนแปลง ในแนวทางการใช้งาน การบริหารจัดการแอปในอนาคตต่อไปอย่างไร ก็ขอให้ผู้ใช้งานได้ติดตามข่าวสาร โดยตรงจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นข้อมูลทางการ เพียงแหล่งเดียว Facebook ของหมอชนะ และช่องทางการสื่อสารต่างๆ ก็จะได้รับการดูแลและตอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐ

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาแนวคิด การออกแบบ และการทำงานของระบบ หมอชนะ ตามที่ทีมอาสาสมัครได้ทำไว้แต่แรกเริ่ม รวมถึงสิ่งที่อยู่ระหว่างของการพัฒนา สามารถติดตามจาก

https://www.facebook.com/CodeForPublic

การเติบโตและความสำเร็จของ “หมอชนะ” เปลี่ยนผ่านจากแอปอาสาสมัคร เป็นแอปของภาครัฐเต็มตัว ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ...

โพสต์โดย ทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team เมื่อ วันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2021

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขอปชช.โหลด "หมอชนะ-ไทยชนะ" ช่วยจนท.สอบสวนโรคง่ายขึ้น

นายกฯ แนะโหลดแอป “หมอชนะ” ประเมิน COVID-19

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง